“อธิบดีราชทัณฑ์” แจงปม “ทักษิณ” นอน รพ.เกิน ๑๒๐ วัน เตรียมรายงานความเห็นแพทย์ “รัฐมนตรีว่าการยธ.” เผยคืบหน้าระเบียบต้องขังนอกเรือนจำเสร็จไม่ทันเดือนหน้า พร้อมนัด คกก.ราชทัณฑ์ ถกรับโทษพรุ่งนี้ แต่ยังไม่เคาะกำหนดนักโทษเข้าเกณฑ์ลอตแรก เมื่อเวลา ๒๐.๓๐ น. วันที่ ๑๐ มกราคม๖๗ ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า ๑๒๐ วัน ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ตนได้รับรายงานความเห็นจากแพทย์ผู้ตรวจรักษาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมรายงานไปยัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม และถ้าเกินกว่านี้ก็ไม่มีการต้องรายงานตามลำดับชั้นใดๆอีกแล้ว ส่วนจำนวนผู้ต้องขังที่เข้ารักษาภายนอกเรือนจำเกินกว่า ๑๒๐ วัน ไม่ได้มีเพียง ๓ ราย ที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ตร.) แต่ยังมีผู้ต้องขังบางส่วนที่นอนพักรักษาตัวเกินกว่า ๑๒๐ วัน จริงๆ ซึ่งตนในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ต้องให้ความเห็นชอบ ตั้งแต่การนอนพักรักษาตัวเกินกว่า ๖๐ วัน หรือเกินกว่า ๑๒๐ วัน ซึ่งมีผู้ต้องขังเป็นหมื่นรายที่ต้องพิจารณาส่วนความคืบหน้าของระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. ๒๕๖๖ หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ตอนนี้มีการวางกรอบไว้เบื้องต้นแล้วว่า ผู้ต้องขังจากรายคดีใดบ้างที่จะเข้าเกณฑ์ และคงไม่ทันเดือน กุมภาพันธ์นี้ เพราะมันขึ้นอยู่กับเนื้อหาอีกหลายประการ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะการออกระเบียบคุมขังนอกเรือนจำมีถึง ๔ วัตถุประสงค์ ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มผู้ต้องขังป่วยก็อีกลักษณะหนึ่ง กลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยก็อีกอย่างหนึ่ง หรือกลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยก็จะเป็นอีกแบบ”ดังนั้น ทุกกลุ่มมีแนวทาง หลักเกณฑ์ปฏิบัติแตกต่างกัน และยังจะต้องไปดูในส่วนของสถานที่คุมขังที่ไม่ใช่เรือนจำ อย่างเช่นหากเป็นบ้านพักจะต้องกำหนดเงื่อนไขใดบ้าง หรือถ้าหากเป็นพื้นที่ของมูลนิธิ เอกชน ก็จะต้องไปกำหนดเงื่อนไขหลักการปฎิบัติอย่างละเอียด สำหรับในวันที่ ๑๑ มกราคมนี้ เวลา ๑๓.๐๐ น. จะมีการประชุมกันของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่อาคารกรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี ส่วนกรอบระยะเวลาการประชุมจะนานแค่ไหนนั้น อยู่ที่เนื้อหาและกรรมการที่จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันพรุ่งนี้เราไม่ได้คุยแค่เรื่องระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เพราะตามนโยบายของรัฐมนตรี คณะกรรมการราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการประชุมทุกเดือน ซึ่งตามนัยแล้ว รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม จะเป็นประธานของคณะกรรมการฯ” อธิบดีกรมราชทัณฑ์นายสหการณ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมวันพรุ่งนี้เกี่ยวกับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ จะยังไม่มีการกำหนดถึงผู้ต้องขังลอตแรกที่จะเข้าเกณฑ์ แต่เป็นการประชุมปกติของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่ต้องหารือในทุกๆประเด็น เช่น สถานที่สำหรับคุมขังในระหว่างถูกดำเนินคดี เพื่อที่จะแยกกลุ่มนักโทษเด็ดขาดออกจากผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี และการติดตามงานนโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาทิ การนำร่องในสถานที่คุมขัง เป็นต้น ถือเป็นวาระปกติที่รัฐมนตรีจะต้องให้มีการประชุมทุกเดือน”สำหรับโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไปนั้น ถือเป็นคุณสมบัติของผู้ต้องขังอยู่แล้ว และก็ต้องรับโทษมาแล้ว ๑ ใน ๓ แต่ก็ต้องไปดูให้ถี่ถ้วน เพราะนักโทษมีเป็นแสนรายทั่วประเทศ ประโยชน์ที่ผู้ต้องขังจะได้รับมีหลายอย่าง เช่น ได้รับวันลดวันต้องโทษ หรือได้รับการพักโทษ หรือหากจำเป็นต้องได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ก็เป็นอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ รายชื่อผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ผ่านโครงการพักการลงโทษ ทางผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งจะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ และพิจารณาคุณสมบัติของผู้ต้องขังก่อนนำเสนอมายังตน ในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์” นายสหการณ์ กล่าว
"กรมคุก" เตรียมส่งความเห็นแพทย์ให้ ยธ. ปม "ทักษิณ" นอน รพ.เกิน ๑๒๐ วัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง