วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

กุฏิชีวาภิบาล @วัดท่าประชุม “ตายดี” ในชุมชนกรุณา

17 ก.พ. 2024
71

นโยบายข้อที่ ๘ ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกประกาศให้เป็นนโยบายเร่งด่วน (Quick win) คือเรื่องการจัดตั้งสถานชีวาภิบาล เริ่มต้นจากการใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ที่เรียกว่า กุฏิชีวาภิบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดโครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ๗๒,๐๐๐ รูป เทิดพระเกียรติในหลวง ๗๒ พรรษา ตั้งเป้าให้มีการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลอำเภอละ ๑ แห่ง อบรมพระคิลานุปัฏฐาก ๔๒๐ ชั่วโมง เป็น Care Giver ดูแลพระสงฆ์อาพาธติดเตียง วัดท่าประชุม บ้านดอนดู่ ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เป็น ๑ ใน ๔ วัดต้นแบบของการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล ที่เรียกว่า “ท่าประชุมโมเดล” โดยมีพระอาจารย์ภูวัต ภูริวัฑฒโน อดีตจักษุแพทย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิคุณ ประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา มหาวิทยาลัยแพทย์พิตสเบิร์ก และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลaลินอยส์ เมืองชิคาโก เป็นกำลังหลักสำคัญของโครงการ พระไพศาล วิสาโล ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสันติภาวัน เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกวันนี้มีภิกษุอาพาธระยะท้ายจำนวนมาก ที่ปรารถนาจะมรณภาพอย่างสงบ โดยไม่ต้องการยื้อชีวิต และไม่ประสงค์จะสิ้นลมที่โรงพยาบาล แต่สถานที่ที่จะรองรับภิกษุเหล่านี้มีน้อยมาก โดยที่วัดจำนวนมากก็ขาดบุคลากรและทักษะในการทําหน้าที่ดังกล่าว” ซึ่งต้องบอกว่า การมีกุฏิชีวาภิบาล คือสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โจทย์และประเด็นปัญหา (Challenges) ของกุฏิชีวาภิบาลคือ หากเป็นไปได้ ผู้ป่วยทุกคน รวมทั้งพระสงฆ์อาพาธ ต้องการพักฟื้นหรือใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิต ตามหลักพระธรรมวินัยในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย ไม่ใช่ในโรงพยาบาล ซึ่งน่าเสียดายที่ปัจจุบันยังมีการเข้าอยู่โรงพยาบาลที่ไม่จําเป็นอยู่บ่อยๆ สร้างทุกข์ถ้วนหน้า และผลาญงบประมาณที่มีจํากัดอย่างสิ้นเปลือง เพราะข้อจํากัดหลายประการ หลักๆ คือ ๑.ขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่จะปรับเปลี่ยนเตรียมพื้นที่เริ่มต้นดูแลที่ “บ้าน” ๒.ไม่มีระบบติดตามดูแล ให้คําปรึกษาโดยเฉพาะเมื่อประสบภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ยังมีวัดจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย (ประมาณ ๓๕,๐๐๐ แห่ง) ถ้าไม่แก้ไข ความท้าทายนี้จะทวีคูณมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้วใน พ.ศ.๒๕๖๖ กุฏิชีวาภิบาล แปลว่า ที่พํานักดูแลเยียวยาคุณภาพชีวิตสมณสงฆ์อาพาธแบบประคับประคองโครงการนี้มีฉันทะขับเคลื่อนให้เกิดขีดความสามารถจัดตั้งกุฏิสงฆ์อาพาธหรือกุฏิชีวาภิบาลสําหรับดูแล แบบประคับประคอง (Palliative Care, PC) ได้ทุกวัดทั่วไทย เพื่อให้ภิกษุป่วยไข้ระยะท้ายมีทางเลือกที่จะได้รับการบริบาล ณ วัดต้นสังกัดที่คุ้นเคยอย่างถูกหลักพระธรรมวินัย นอกจากนี้ คณะสงฆ์สามารถช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพในการดูแลสร้างเสริมสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ และปรับแก้ทัศนคติที่ผิดและงมงายเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง เช่น เป็นการแช่งให้ตายเร็วขึ้น ฯลฯ โดยชี้ให้เห็นว่าการเตรียมตัว เช่น กระบวนการ วางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือ ACP (Advance Care Plan) และการดูแลแบบประคับประคอง เป็นการใช้ปัญญาดําเนินชีวิตบนความไม่ประมาท ตามคําสอนของพระพุทธเจ้า เป็นความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงที่นําสู่การวางแผนและ เตรียมความพร้อมของชีวิตที่มีความหมายเพื่อสุขภาวะทุกขณะ รวมทั้ง ณ ปลายทางได้ ที่เรียกว่า Every meaningful life moments including the very last one = Good Death พระอาจารย์ภูวัต ภูริวัฑฒโน อดีตจักษุแพทย์ ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่า การทำกุฏิชีวาภิบาลที่นี่ ยึดหลักสำคัญง่ายๆ คือ “อยู่ง่าย ตายดี ในชุมชนกรุณา คือ สิทธิมนุษยชน” โดยเริ่มต้นจากแนวคิด คือ ๑.ให้ศูนย์บริบาลที่วัดท่าประชุมเป็นที่พํานักบริบาลครบวงจร ใช้งานจริง ๒.เป็นต้นแบบและพื้นที่ร่วมเรียนรู้ และ ๓.เป็นแซนด์บ็อกซ์ (sandbox) สําหรับสร้างสรรค์และทดสอบนวัตกรรม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ งานนี้เป็นการทำงานถวายองค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสไว้ว่า “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” แปลเป็นไทยว่า เป็นการทำงาน “เพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ต่อชาวโลก” พระอาจารย์ภูวัตบอกขณะที่ นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น หนึ่งในผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บอกว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ถือเป็นการดูแลแบบองค์รวม สำคัญคือ การดูแลทางด้านจิตใจ ทั้งคนไข้และครอบครัว ให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพไปจนวันสุดท้าย เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างและเขาจะวางแผนรับมือจัดการกับมันยังไงได้บ้าง เพื่อให้เส้นทางการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นเส้นทางที่สงบและราบรื่นที่สุด “เมื่อได้พูดคุยกับคนไข้ส่วนใหญ่เกิน ๙๐% พบว่า ถ้าเขารับรู้สถานการณ์ว่าเขาอยู่ในห้วงสุดท้ายของชีวิต เขาไม่อยากจะยืดเยื้อความตายในวาระสุดท้ายเพราะรู้ว่าทําอะไรไปก็ไม่ได้ยืดเวลาได้ อย่างเช่น โรคมะเร็ง การยืดความตายในช่วงท้ายเขาต้องถูกเจาะ ถูกแทง อะไร หลายๆอย่าง ซึ่งมันค่อนข้างทรมานและก็อาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่” นพ.อรรถกรบอกสำหรับผู้ที่อยากมีส่วนร่วมในการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล เพื่อการตายดี ของวัดท่าประชุม สามารถร่วมผ่านบัญชีวัดท่าประชุม ธ.กรุงไทย สาขาศรีจันทร์ เลขที่บัญชี ๔๓๗-๓-๑๐๖๖๕-๗ ส่งใบ pay-in (สลิป) และแจ้งชื่อ-สกุล เลขประจำตัวผู้เสียภาษี พร้อมที่อยู่เพื่อจัดส่งใบอนุโมทนาได้ที่อีเมล WatTaPrachum@gmail.comซึ่งที่สุดแล้ว การมีกุฏิชีวาภิบาลไม่ได้มีหลักอะไรมากเลย นอกจากการทำให้เกิด “การตายดีในชุมชนกรุณา” เท่านั้นเอง.คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม