“ศุภโชติ” สส.ก้าวไกล ถาม “นายกฯ” จะยืดหนี้ กฟผ. เพื่อตรึงค่าไฟอีกหรือไม่ สุดท้ายประชาชนอาจต้องจ่ายหนี้กว่า 1.4 แสนล้าน ย้ำอีก แก้ค่าไฟ ต้องปรับโครงสร้าง-ใช้หนี้ให้หมด เสนอรัฐบาลหลายครั้ง ตอบรับ แต่กลับไม่เอาไปทำ วันที่ 1 ธ.ค. 66 นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch ประเด็นค่าไฟ โดยกล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกล รู้สึกกังวลกับอัตราค่าไฟในช่วงต้นปีหน้าของพี่น้องประชาชน และกังวลต่อมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา อ้างว่า เป็นผลงานของรัฐบาลในการลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย กำลังจะหมดไป เพราะล่าสุดวันที่ 29 พ.ย. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟที สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมพุ่งจาก 3.99 บาทต่อหน่วย ไปอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย หลายคนเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมอยู่ดีๆ ค่าไฟถึงขึ้นไปอย่างก้าวกระโดดขนาดนี้ ทั้งที่จริงแล้ว ต้นทุนค่าไฟของต้นปีหน้าอยู่ที่แค่ 4.05 บาท เท่านั้น ส่วนเกิน 64 สตางค์มาจากไหนนายศุภโชติ กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปถึงมาตรการที่รัฐบาลในอดีตเคยใช้ในการลดค่าไฟ วิธีหลักๆ คือการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าไว้ก่อน รัฐบาลเศรษฐาก็ใช้วิธีเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกไว้มีมูลค่าสูงถึง 95,777 ล้านบาท จนทาง กฟผ. เองแสดงความกังวลถึงการมีมติให้ยืดหนี้ก้อนนี้ออกไป เพราะย่อมสร้างต้นทุนให้ กฟผ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ขาดสภาพคล่อง กระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟในอนาคตของประชาชนแน่นอนแต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีทางจะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาล หรือ กฟผ.เอง เลือกที่จะขึ้นค่าไฟของประชาชน เพื่อเอาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนที่แบกอยู่ พูดง่ายๆ คือ กฟผ. มีหน้าที่แบกหนี้ไว้ชั่วคราวเท่านั้น รอการเก็บเงินจากประชาชนมาจ่ายหนี้ทีหลัง ทั้งนี้ มีการคำนวณว่า หากจะต้องใช้หนี้ก้อนนี้ รัฐบาลจะทำได้อย่างไร ไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะประกาศอัตรา 4.68 บาทต่อหน่วย ทาง กกพ. มีการประกาศรับฟังความคิดเห็นเรื่องค่าไฟ สำหรับเดือน ม.ค. 2567 โดยแบ่งเป็น 3 กรณี กรณีที่ 1 ถ้าต้องการให้ กฟผ. ชำระหนี้ที่แบกอยู่ภายใน 4 เดือน ค่าไฟที่ควรเป็นจะสูงถึง 5.95 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากระดับ 3.99 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน ซึ่งตนถือว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด กรณีที่ 2 คือให้ กฟผ. จ่ายคืนภาระหนี้ภายใน 1 ปี ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 3 อนุญาตให้ กฟผ. ยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไปเป็น 2 ปี ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วยจึงถือว่าโชคดีที่ทาง กกพ. มีมติเลือกกรณีที่ 3 ที่กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด แต่จะเห็นได้ว่ามาตรการการยืดหนี้ที่รัฐบาลใช้นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องขึ้นค่าไฟของพี่น้องประชาชนอย่างก้าวกระโดดในทีเดียวเมื่อหมดโปรโมชัน ทั้งนี้ อัตราที่เคาะกันออกมา 4.68 บาทต่อหน่วย จัดอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก นายกฯ เศรษฐา ก็เพิ่งมีท่าทีขึงขังต้องการลดค่าไฟให้ต่ำกว่านี้ แต่ก็ต้องถามกลับไปที่นายกฯ เองว่าจะทำอย่างไร“เพราะหากใช้มาตรการแบกหนี้ยืดหนี้แบบเดิมอีก ก้อนหนี้ที่สุดท้ายประชาชนต้องจ่ายก็จะใหญ่ขึ้นอีก มีการคำนวณไว้ว่า หากมีการตรึงค่าไฟในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ไว้เท่าเดิมที่ 3.99 บาท มูลค่าหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 140,000 ล้านบาท และสุดท้ายเมื่อหมดโปรโมชันเราอาจจะเห็นประชาชนต้องจ่ายค่าไฟ 6 บาทต่อหน่วยก็เป็นได้” ศุภโชติกล่าวสส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เราพูดมาตลอดตั้งแต่การหาเสียง การอภิปรายนโยบายรัฐบาล หรือแม้แต่ตอนที่ตนเข้าไปเสนอวิธีแก้ไขปัญหาต่อ รมว.พลังงาน ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่าปัญหาพลังงานของประเทศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทางรัฐบาลก็เคยตอบรับและเห็นด้วย แต่ไม่เคยเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนั้น วันนี้ตนจะพูดอีกครั้ง ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟในระยะเร่งด่วน ที่สามารถทำได้ทันทีมี 3 ข้อข้อหนึ่ง การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างสนับสนุนและใช้หาเสียงมาด้วยกัน พวกเราคิดว่า การปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ลดลงอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากปัจจุบันก๊าซราคาถูกที่ขุดจากอ่าวไทยถูกนำไปให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก่อน ส่วนก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ ส่วนใหญ่มาจากก๊าซที่มาจากการนำเข้าซึ่งมีราคาแพงมาก เท่ากับตอนนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ถูก ประชาชนใช้แพง ดังนั้น หากนำ 2 ส่วนนี้มาถัวเฉลี่ยกัน แล้วค่อยกระจายให้ภาคเอกชนกับการผลิตกระแสไฟฟ้าของประชาชนในอัตราส่วนเท่าๆ กัน จะทำให้ต้นทุนของไฟฟ้า ถูกลงได้มากกว่าปัจจุบันถึง 70 สตางค์ต่อหน่วยข้อสอง การเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่รัฐเคยทำกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ภาคเอกชนเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการมีจำนวนโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้ามากเกิน บางโรงที่แทบจะไม่ต้องผลิตไฟฟ้าเลยหรือไม่ได้เดินเครื่องเลยตลอดปี กลับได้เงินผ่านค่าความพร้อมจ่ายนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาสัญญา 25 ปี ซึ่งในปีที่ผ่านๆ มา ประชาชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายนี้ที่แฝงอยู่ในค่าไฟของพี่น้องประชาชนทุกคน ให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องกว่าเกือบหมื่นล้านบาทต่อปีฟรีๆ พรรคก้าวไกลได้ศึกษาผลลัพธ์ที่ได้จากการแก้ไขค่าความพร้อมจ่ายนี้ลง จะสามารถประหยัดต้นทุนค่าไฟได้เพิ่มอีก 15 สตางค์ต่อหน่วยข้อสาม หยุดการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่ลาวกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ที่เซ็นมาในราคาที่แพงมาก 2.7 บาทต่อหน่วย หรือโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ที่ทั้งแพงและศาลปกครองกลางชี้ว่ากระบวนการมีปัญหา อาจทำให้ประเทศเสียประโยชน์ อย่าอ้างเลยว่าประเทศต้องการพลังงานสะอาด เรามีอีกหลายวิธีที่ทำให้ประเทศเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดได้ ทั้งการปลดล็อกสายส่ง หรือการเปิดตลาดพลังงานสะอาดเสรี ซึ่งแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟของพี่น้องประชาชนเลยศุภโชติกล่าวว่า หากแก้ปัญหาที่โครงสร้างทั้ง 2 ข้อ และนำเงินที่เหลืออยู่ไปใช้หนี้ที่ กฟผ. แบกอยู่ ในที่สุดเราอาจได้เห็นค่าไฟที่สะท้อนความเป็นจริงและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่อัตรา 3 บาทต้นๆ ก็เป็นได้ ดังนั้น สิ่งที่ขอฝากรัฐบาลเศรษฐา คือ ให้ลองนำสิ่งที่พรรคก้าวไกลพูดมาเสมอ เรื่องการแก้ปัญหาที่โครงสร้างภาคพลังงาน กลับไปศึกษาต่อและนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะสุดท้ายคนที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือพี่น้องประชาชนทุกคน
ก้าวไกล จี้ นายกฯ แก้ค่าไฟแพง ต้องปรับโครงสร้าง เสนอรัฐ ตอบรับแต่ไม่ทำ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง