วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

“ครูเจี๊ยบ” ผู้ทุ่มแก่ศิษย์ ชีวิตปรับสอนเด็กยุคใหม่

16 ม.ค. 2024
66

ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท “ในวงการการศึกษาไทย” แต่ครูยังคงทำหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณความมุ่งมั่นพัฒนา “ศิษย์” เหมือนเป็นพ่อแม่คนที่ ๒ คอยอบรมสั่งสอน ป้องกันห้ามปรามห่างไกลสิ่งไม่ดี เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติในอนาคตอยู่เสมอนี้ทำให้สังคมไทยยกให้วันที่ ๑๖ มกราคมทุกปีเป็น “วันครูแห่งชาติ” เช่นเคยในปี ๒๕๖๗ “เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ” ได้มอบคำขวัญวันครูว่า “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์” พร้อมโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า…“ครู” คือผู้นำความรู้ทั้งจากในตำรา และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ งานของครูในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จึงไม่ใช่แค่การสอนหนังสือให้ความรู้ตามตำรา แต่ครูยังต้องใส่ใจสอนวิธีคิด และวิธีจัดการกับข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลายtt ttเพื่อให้ศิษย์สามารถจัดระเบียบความคิดได้ รวมถึงเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมีคุณภาพ คำว่าครูสำหรับผม คือ ผู้สร้าง และ ผู้ให้ “สร้าง” คือ สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับสังคม “ให้” คือ ให้หลักคิดแก่ผู้คนเพื่อนำไปต่อยอดได้ดังคำขวัญวันครูแด่ครูทุกท่านที่เสียสละดังนี้….“ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์”วันครูปีนี้ “สกู๊ปหน้า ๑” ยังคงระลึกพระคุณครู และหยิบยกเรื่องราวดีๆ ของ ครูเจี๊ยบ-จีรนันท์ วรรณโยธา ครูชำนาญการพิเศษคณิตศาสตร์ ร.ร.สตรีศรีน่าน จ.น่าน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตกว่าจะได้เป็นครูให้ฟังว่า เดิมครอบครัวมีพี่น้อง ๓ คน “พ่อ” มีอาชีพเป็นครูประถมบ้านท่าค้ำ ต.ริม อ.ท่าวังผา “แม่” ขายอาหารในโรงเรียนสิ่งนี้ทำให้ลูกๆซึมซับปลูกฝังในอาชีพครู ต่างสนใจใฝ่เรียนรู้มาแต่ “เด็ก” เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเป็นประจำ ส่งผลให้ผลการเรียนค่อนข้างดี “สอบได้อันดับ ๑–๓ ของห้องตลอด” จนเป็นที่รักของคุณครูหลายท่านเมื่อเข้ามัธยมศึกษาก็สอบได้ห้องคิงตลอด แล้วตอน ม.ต้น อาชีพในฝัน คือ นักบัญชี เพราะชอบการคำนวณแต่พอขึ้น ม.ปลาย “รุ่นพี่” แนะนำอาชีพครูเป็นอาชีพมีเกียรติเป็นที่เคารพนับถือจาก “คนในสังคม” ถูกเปรียบเทียบเป็นปูชนียบุคคลที่เสียสละ ดูแล เอาใจใส่ เพื่อให้ศิษย์เจริญงอกงามเป็นแบบอย่างที่ดีกระทั่งเริ่มมี “โครงการคุรุทายาท” เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นมา “คัดเด็กตั้งใจเป็นครู” เพื่อให้ทุนการศึกษา เมื่อเรียนจบสามารถเข้าบรรจุเป็นครูในอัตรารองรับให้กลับไปทำงานในภูมิลำเนา จึงตัดสินใจสมัครสอบสาขาคณิตศาสตร์tt ttสมัยนั้นจำได้ว่า “จ.น่านได้โควตา ๑๑ คน” ทำให้ขยันอ่านหนังสือหนักหลายเดือนจนผ่านคัดเลือกถูกส่งไปเรียนราชภัฏอุตรดิตถ์ เมื่อเรียนจบอายุ ๒๓ ปี “เข้าบรรจุครูใน ร.ร.เวียงเจดีย์วิทยา จ.ลำพูน ๓ ปี” ในระหว่างนี้ก็ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ควบคู่กันไปด้วยก่อนย้ายมา “ร.ร.เชียงม่วนวิทยาคม จ.พะเยา” สิ่งที่ประทับใจสามารถพัฒนาให้เป็น “ศูนย์คณิตศาสตร์ภายในโครงการโรงเรียนในฝัน” ส่งนักเรียนแข่งขันระดับประเทศสร้างชื่อให้จังหวัดมากมายใน ๙ ปีจากนั้นขอย้ายกลับมา “ร.ร.ท่าวังผาพิทยาคม จ.น่าน” นักเรียนมีความหลากหลายทั้งเด็กเก่ง และคนเรียนอ่อนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ด้วยการหาวิธีการเรียนรู้อื่นเข้ามาเสริมทดแทน ควบคู่กับเยี่ยมบ้านนักเรียนให้รู้ชีวิตความเป็นอยู่สภาพแวดล้อมทางบ้านของเด็ก เพื่อเป็นข้อมูลใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมเด็กได้ถูกต้องต่อมาในปี ๒๕๖๑ “ย้ายมา ร.ร.สตรีศรีน่าน” อันเป็นโรงเรียนใหญ่ประจำจังหวัดน่าน “เน้นหลักวิชาการจ๋า” แถมช่วงนั้นเป็นยุคปรับเปลี่ยนนำเทคโนโลยีมาช่วยการเรียนรู้ค่อนข้างมาก “ครูจะใช้หลักการสอนแบบเดิมไม่ได้” ทำให้ประสบการณ์ที่เคยเป็นครูโรงเรียนภายนอกต้องปรับพัฒนาความรู้เพิ่มเพื่อให้เป็นครูรุ่นใหม่ด้วยการประยุกต์ “ใช้เทคโนโลยีช่วยเตรียมการเรียนการสอน” อย่างเช่น การใช้ออนไลน์ในการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน ทั้งสั่งงาน หรือส่งงานผ่านระบบไลน์กลุ่ม โดยเฉพาะตั้งแต่โควิด-๑๙ โรงเรียนต่างมีระบบ Google Classroom โปรแกรมห้องเรียนออนไลน์มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแม้เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น “มีกูเกิลเป็นตัวช่วยค้นหาข้อมูลได้ดี” ก็เป็นเพียงศูนย์ข้อมูลเติมในส่วนที่ขาดเท่านั้น “ไม่อาจเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกทดแทนครูได้” เพราะเนื้อหาการเรียนการสอนยังเป็นแบบเดิมยิ่งกว่านั้น “การสืบค้นบนอินเตอร์เน็ต” กลับเป็นเรื่องให้กังวลจากเด็กบางคนใช้ไม่เหมาะสมกลายเป็นผลร้ายเชิงลบเกิดขึ้นมากมาย “ครูต้องช่วยแนะนำดูแลเช่นเดิม” ดังนั้นการสอนในห้องเรียนยังจำเป็นในยุคนี้ เพราะการสอนในห้องเป็นการสอนแบบซึ่งหน้า นักเรียนจะมีสมาธิในการเรียนสามารถสอบถามทำความเข้าใจจุดสงสัยได้ทันทีtt ttแน่นอนว่าเทคโนโลยีเข้ามา “ครูรุ่นเก่าค่อนข้างปรับตัวได้ยาก” แต่ด้วยจิตวิญญาณความศรัทธา “ในวิชาชีพครู” ทำให้ต้องมุ่งมั่นเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากลำบากบ้าง แต่ก็ต้องพัฒนาปรับตัวให้อยู่รอดในโลกการเรียนการสอนยุคใหม่นี้โดยเฉพาะ “โรงเรียนขนาดใหญ่” เด็กมักมีฐานะทางครอบครัวใช้เครื่องมือการสื่อสารได้ดี และบางคนยอมเสียเงินติวหนังสือจนเรียนเก่งกว่าคนอื่น “ผู้ปกครองตั้งความหวังไว้สูง” กลายเป็นความกดดันให้ “ครู” ต้องเตรียมการเรียนการสอนหนักแบบสุดๆ หากสอนผิดพลาดจะเกิดเสียงตำหนิ ทำให้ครูผู้สอนรู้สึกอึดอัดท้อแท้ใจปัญหามีอยู่ว่า “ครูมิใช่แค่สอนวิชาเดียว” แต่ยังมีงานการประเมิน งานธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ ทำให้ไม่มีเวลาจัดเตรียมการสอน หรือไม่มีโอกาสได้พัฒนาการเรียนการสอนให้นักเรียนอย่างเต็มที่ ทั้งที่โรงเรียนควรจัดหาเจ้าหน้าที่ให้ตรงตามสายมาทำจะดีกว่า เพื่อให้ครูมีเวลาดูแลเด็กเตรียมการสอนให้มีประสิทธิภาพแต่ก็อย่างว่า “ครู” เมื่อเลือกมาในวิชาชีพนี้ด้วยความรักแล้วก็ต้องยอมรับทุ่มเทให้นักเรียนต่อไป เพื่อความเจริญงอกงามของศิษย์เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี สามารถใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง เพียงเท่านี้ในฐานะ “ครู” ก็มีความสุขหายเหนื่อยหายท้อกันแล้วจริงๆแล้ว “การสอนเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีไม่ยาก” เพียงแค่ต้องสร้างความเป็นกันเองกับเด็กให้เขาไว้ใจ ถ้ามีปัญหาต้องค่อยๆคุยให้คำแนะนำอย่างอะลุ่มอล่วยต่อกัน “ด้วยวัยรุ่นไม่ชอบบังคับใช้ไม้แข็งยิ่งต่อต้าน” โดยเฉพาะกลุ่มไม่เข้าเรียน ขี้เกียจ เกเร ดังนั้นส่วนตัวนับแต่มาเป็นครูจะไม่เคยใช้ไม้แข็งกับเด็กเลยด้วยซ้ำแต่ใช้ความเข้าใจความเห็นอกเห็นใจต่อกัน “เด็กมักจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” เมื่อเรียนจบไปหลายคนก็ประสบความสำเร็จในอาชีพตำรวจ ทหาร ครู พยาบาล แพทย์ หรือบางคนทำธุรกิจส่วนตัวจนร่ำรวยก็มีอย่างกรณีที่ภูมิใจมากคือ “ลูกศิษย์ ร.ร.ท่าวังผาพิทยาคม” ที่มีฐานะยากจนมากไม่มีแม้แต่หนังสืออ่าน อย่างเป็น “ครู” สมัยนั้นตัวเองต้องหาหนังสือมาให้จนสามารถสอบเข้า “โครงการส่งเสริมการผลิตครูมีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.)” ปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นครูอย่างตั้งใจแล้วtt tt“ฉะนั้นทุกครั้งที่เห็นได้ยินข่าวศิษย์ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แม้ว่าระหว่างอยู่รั้วโรงเรียนอาจต้องเจอปัญหาอุปสรรคมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ไม่เคยท้อหยุดทำหน้าที่คงมุ่งมั่นที่จะนำลูกศิษย์ถึงฝั่งให้สำเร็จ และปลอดภัย เพียงเท่านี้ในฐานะคนเป็นครูก็รู้สึกดี ภูมิใจ และดีใจกับเขาแล้ว” ครูเจี๊ยบว่าสุดท้ายเนื่องในวันครูปี ๒๕๖๗ “ขอเป็นกำลังใจแก่ครูทุกท่าน” อย่างครูบรรจุใหม่ที่เข้ามาเริ่มต้นในวิชาชีพนี้ “ต้องมีใจรักการสอน รักที่จะเป็นผู้ให้” ส่วนครูรุ่นเก่าที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนยุคใหม่ต้องพัฒนาตนเองให้ทันต่อความก้าวหน้าของโลก เพื่อทำหน้าที่ครูนำพาศิษย์ไปสู่ฝั่งแห่งความสำเร็จทุกประการนี่คือเสียงย้ำสะท้อนจาก “ครู” ผู้ที่ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยความหวังเพียงสิ่งเดียวว่า ที่สุดของการทำหน้าที่ครู คือ การที่ได้เห็นความงอกงาม ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในตัวศิษย์ หวังเพียงเห็นศิษย์ได้ดี เติบโตเป็นคนดี พร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อสังคม และประเทศชาติต่อไป.tt ttคลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม