วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

จับตาอานุภาพขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เกาหลีเหนือยิงทดสอบรับปีใหม่

เปิดศักราชใหม่มาไม่กี่วัน เกาหลีเหนือก็เดินหน้าทดสอบขีปนาวุธทันที โดยเป็นการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอานุภาพสูงเป็นครั้งแรกของปีนี้ สร้างบรรยากาศความตึงเครียดให้แก่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เฝ้าจับตาเกาหลีเหนืออย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วแม้ว่าทางการเกาหลีเหนือจะยืนยันว่าการยิงขีปนาวุธในครั้งนี้ มุ่งทดสอบความน่าเชื่อถือของเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งและหัวรบไฮเปอร์โซนิกพิสัยปานกลาง โดยไม่ได้ก่อภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน แต่กองทัพเกาหลีใต้ประณามว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดคำสั่งห้ามของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเตือนว่าจะมีมาตรการตอบโต้พฤติกรรมยั่วยุอย่างแน่นอนนอกจากเกาหลีเหนือแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เคยทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกมาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย เป็นต้นความเคลื่อนไหวล่าสุดของเกาหลีเหนือมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ทวีความตึงเครียด หลังจากที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปหลายครั้ง และยังประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมสอดแนมทางทหารขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก จนสร้างความกังวลต่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร และประกาศจะตอบโต้ภัยคุกคามนี้เรื่อยมาtt ttขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกทำงานอย่างไรขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ถูกใช้เพื่อส่งหัวรบออกไปโจมตีเป้าหมายด้วยความเร็วมากกว่า ๕ เท่าของความเร็วเสียง หรือประมาณ ๖,๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมักจะเดินทางในระดับเพดานบินที่ค่อนข้างต่ำอย่างไรก็ตาม แม้ชื่อของมันจะบ่งบอกถึงความเร็วที่เหนือเสียง แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าจุดเด่นของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ความเร็ว เพราะความเร็วไม่ต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัวแบบดั้งเดิมมากนัก แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ศักยภาพในการบังคับเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งจะช่วยให้หลบหลีกระบบป้องกันของศัตรูได้เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกครั้งแรกเมื่อปี ๒๐๒๑ โดยมีหัวรบรูปทรงคล้ายเครื่องร่อน ออกแบบให้แยกออกจากจรวดบูสเตอร์ และร่อนเข้าหาเป้าหมายด้วยความเร็วเหนือเสียงขณะที่ในการทดสอบเมื่อปี ๒๐๒๒ จะเป็นหัวรบ MaRV คือหัวรบแบบควบคุมการเคลื่อนที่ทรงกรวย โดยจะติดอยู่กับขีปนาวุธตลอดการบิน และใช้หัวขับขนาดเล็กเพื่อปรับวิถีการเคลื่อนที่ ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้ยากและคาดเดาไม่ได้ส่วนการทดสอบในครั้งล่าสุดนี้ เกาหลีเหนืออ้างว่าต้องการจะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็ง แรงขับสูงแบบหลายขั้นตอนแบบใหม่ และหัวรบควบคุมแบบร่อนความเร็วเหนือเสียงพิสัยกลางโดยการผสมผสานยานร่อนเข้ากับขีปนาวุธที่สามารถยิงเข้าสู่วงโคจรบางส่วน ซึ่งเรียกว่า ระบบทิ้งระเบิดวงโคจรบางส่วน (FOBS) จะทำให้ระบบป้องกันแบบดั้งเดิมของฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตอบสนองได้ทันเวลาซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับขีปนาวุธข้ามทวีป ICBMs แล้ว จะมีความแตกต่างจากระบบ FOBS ตรงที่ ICBMs จะบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์บนวิถีแบบขีปนาวุธ ที่พุ่งทะลุผ่านชั้นบรรยากาศเข้าสู่อวกาศในวิถีโค้ง แล้วจึงตกลงมาหาเป้าหมายบนโลก ทำให้ระยะทำการไกลมาก เหมาะสำหรับโจมตีข้ามทวีป ส่วน FOBS จะส่งยานร่อนขึ้นสู่วงโคจรเป็นทางลัดก่อน ปล่อยยานร่อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อโจมตีเป้าหมาย ช่วยให้หลบหลีกจากการตรวจจับtt ttประเทศไหนล้ำหน้าที่สุดในปี ๒๐๒๑ จีนส่งจรวดที่บรรทุกยานร่อนความเร็วเหนือเสียง ทะลุฝ่าขึ้นไปยังอวกาศ และโคจรรอบโลก ก่อนพุ่งลงสู่เป้าหมาย แต่พลาดไปประมาณ ๓๙ กิโลเมตรก่อนหน้านั้นในช่วงต้นปี ๒๐๒๑ รัสเซียเพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธล่องความเร็วเหนือเสียง Tsirkon ซึ่งประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียประกาศว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่ นอกจากนี้ รัสเซียยังทดสอบยิงอาวุธชนิดนี้จากเรือดำน้ำและเรือฟริเกตเป็นครั้งแรกด้วยขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศในเดือนกันยายน ๒๐๒๑ ว่า ได้ทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงเช่นกัน โดยขีปนาวุธลอยไปในชั้นบรรยากาศด้วยตัวเองเหมือนจรวดล่อง ถือเป็นการทดสอบอาวุธประเภทนี้อย่างสำเร็จครั้งแรก นับตั้งแต่ปี ๒๐๑๓tt ttเป้าหมายในการพัฒนาจรวดไฮเปอร์โซนิกของเกาหลีเหนือในการประชุมใหญ่พรรคแรงงานในเดือนมกราคม ๒๐๒๑ นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เคยกล่าวถึงการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกว่า นี่จะเป็นหนึ่งในงานหลัก ๕ อย่าง ภายใต้แผนพัฒนาระยะเวลา ๕ ปี ของการเสริมศักยภาพให้กองทัพเกาหลีเหนือ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเชื้อเพลิงแข็ง ICBMs และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ด้วยโดยเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงลูกแรกในเดือนกันยายน ปี ๒๐๒๑ โดยเรียกขีปนาวุธดังกล่าวว่าเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์” ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมขีดความสามารถในการป้องกัน แม้ว่านักวิเคราะห์ชาวเกาหลีใต้บางคนจะชี้ว่าการทดสอบดังกล่าวประสบความล้มเหลวก็ตามขณะที่ในเดือนมกราคม ปี ๒๐๒๒ ทางการกรุงโซลระบุว่า เกาหลีเหนือได้ทดสอบจรวดขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอีกลูก โดยจรวดบินที่ระดับความสูงค่อนข้างต่ำ ๑๐ เท่าของความเร็วเสียง (๑๒,๓๔๘ กม. / ๗,๖๗๓ ไมล์ต่อชั่วโมง)การปล่อยขีปนาวุธครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงเป็นการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เชื้อเพลิงแข็งครั้งแรกของเปียงยาง ทั้งๆ ที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมมากนัก ซึ่งคาดว่านายคิมน่าจะได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางเยือนกรุงมอสโกของรัสเซีย เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเขาได้มีโอกาสเยี่ยมชมการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก กับยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของรัสเซียด้วยtt ttทำไมทั่วโลกต้องจับตาโลกกำลังเผชิญกับการแข่งขันพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง ไม่ใช่แค่เพียงมหาอำนาจเท่านั้น แต่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เร่งพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลขั้นสูงเช่นกันขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงและระบบทิ้งระเบิดวงโคจรบางส่วน (FOBS) จึงกลายเป็นความท้าทายใหม่ เพราะความเร็วและวิถีที่คาดเดายาก อาจหลบหลีกระบบป้องกันขีปนาวุธและระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้นายชาง ยังคียุน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการบินอวกาศเกาหลี ระบุว่า เกาหลีเหนือดูเหมือนจะพยายามพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงและขีปนาวุธพิสัยกลาง โดยใช้เครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงแข็ง เนื่องจากขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง พิสัยกลางถึงไกล มีประโยชน์ในการโจมตีเกาะกวม ขณะเดียวกันก็หลบหลีกระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ได้ ซึ่งจะกลายเป็นไพ่ใบสำคัญในการต่อกรกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่แสดงท่าทีคุกคามเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธล้ำสมัยไม่ว่าจะอยู่ในมือของชาติใด ยิ่งทวีความกังวลด้านความมั่นคงในภูมิภาคนั้นๆ ประชาคมระหว่างประเทศจึงจำเป็นต้องหาทางควบคุมการแข่งขันพัฒนาอาวุธ เพื่อป้องกันสงครามที่อาจลุกลามบานปลาย หรือเพิ่มพื้นที่ในการสู้รบในโลกใบนี้ เพราะในตอนนี้ก็มีการสู้รบระหว่างชาติต่างๆ จนสร้างความสูญเสียมากเกินพออยู่แล้ว.ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอลที่มา : CNN, Reuterคลิกอ่านรายงานพิเศษข่าวต่างประเทศไทยรัฐออนไลน์ ที่นี่