การจัดทำผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ กำลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชน ท่ามกลางความกังวลจะมีการเอื้อประโยชน์บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดช่องให้สามารถสร้างคอนโดมิเนียมได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในย่านทำเลทอง แต่คุณภาพชีวิตของคนกรุงกลับแย่ลงวันเสาร์ที่ ๖ มกราคมที่ผ่านมา ที่อาคารกีฬาเวสน์ ๒ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) กทม. ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงครั้งที่ ๔) เพื่อพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองเพื่อทุกคน และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี คุณณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. เป็นประธานเปิดการประชุม อันที่จริง คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. น่าจะมาเป็นประธานเอง เพราะเป็นการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายและถือเป็นครั้งสำคัญที่สุดขณะเดียวกัน ภาคประชาชน นำโดย คุณโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีต รัฐมนตรีว่าการคลัง ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน คุณก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง พร้อมชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากร่างผังเมือง ได้มาแถลงข่าวที่อาคารกีฬาเวสน์ ๒ เช่นกัน เพื่อคัดค้านการทำประชาพิจารณ์ผังเมืองคุณโสภณกล่าวว่า เนื้อหาในการจัดทำร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการพัฒนาจนเกินสมดุล และขาดเจตนารมณ์ข้อสำคัญคือ คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับ จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนแก้ไขกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ทำมา และจัดรับฟังความเห็นประชาชนให้รอบด้าน เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงนายก้องศักดิ์กล่าวเสริมว่า วิธีการได้มาของร่างผังเมืองรวมฯในครั้งนี้ไม่ได้เริ่มมาจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นภาครัฐเขียนขึ้นมาเองแล้วมาเล่าให้ประชาชนฟังและให้ยอมรับ ประชาชนไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องยากๆ แล้วจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร อยากให้ภาครัฐกลับไปเริ่มต้นสอบถามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำผังสี ร่างผังเมืองรวมฯใหม่อีกครั้งด้านคุณกรณ์กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน และอดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา ล้วนแต่พูดว่าต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ทำไมสีผังเมืองไม่จางลง มีแต่จะเข้มขึ้น กทม.เสนอ จะขยายขนาดถนน ๑๔๘ สาย อ้างว่าเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบรถไฟฟ้า และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะดูจากพิกัดบริเวณที่กำหนด เชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อกำจัดอุปสรรคในการสร้างตึกสูงเพิ่มเติมเข้าไปในย่านชุมชนที่มีถนนเล็กซอยแคบ ซึ่งปัจจุบันหลายโครงการติดเงื่อนไขความกว้างของซอย หากตรงนี้ผ่านได้ จะนำไปสู่การรุกคืบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เข้าไปในหลายชุมชน หลายซอยส่วนมาตรการ FAR.Bonus เป็นการเพิ่มสิทธิก่อสร้างอาคารให้สามารถเพิ่ม “อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน” ได้ถึง ๒๐% จากเดิม แลกกับการอุทิศบางสิ่งที่ กทม.กำหนดว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป เช่น สวนหย่อมบนหลังคาตึก สวนแนวตั้ง สถานรับเลี้ยงเด็ก ฯลฯ ที่จริง กทม.ควรกำหนดเป็นเงื่อนไขให้กับผู้ประกอบการไปเลย ไม่เช่นนั้นมาตรการนี้จะทำให้เกิดโครงการลูบหน้าปะจมูกเป็นข้ออ้างสิทธิสร้างตึกให้สูงขึ้นใหญ่ขึ้น เปิดช่องการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และการทุจริตคอร์รัปชันมากมายคุณกรณ์กล่าวด้วยว่า ผังเมืองที่มีการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นนายทุนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ กทม.สามารถคลายความกังวลได้ จะเพิ่มถนนก็เพิ่มไป แต่อย่าเพิ่มสิทธิในการสร้างอาคารสูงในพื้นที่ที่จะขยายถนน ถ้ากล้าทำก็ต้องเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้มากกว่าที่ผ่านมาเรื่องสำคัญกระทบต่อชีวิตคนกรุงอย่างนี้ ท่านผู้ว่าฯชัชชาติควรจะลงมาดูแลเองได้แล้วครับ ภาคประชาชนไม่ไว้ใจเพราะคนรอบกายผู้ว่าฯมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึง ๒ คน แถม กทม.มักถูกวิจารณ์เรื่องละเลยการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษผู้ที่ละเมิดข้อบัญญัติ โครงการดังๆที่ยังติดปัญหาคาราคาซังอยู่มีให้เห็นเพียบ.ลมกรดคลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม
จี้ทบทวนผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ผวาเอื้อนายทุนอสังหาริมทรัพย์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง