วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

"จุรินทร์" เสนอ ๔ ข้อ ปม "ขบวนเสด็จ" บังคับใช้กฎหมาย ปชป. ไม่นิรโทษฯ ม.๑๑๒

“จุรินทร์” เสนอ ๔ ข้อ รัฐบาล ต้องตระหนักหน้าที่ถวายความปลอดภัย ด้วยความสำนึก จงรักภักดี ยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดกับทุกฝ่าย ไม่สนับสนุนให้นิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ปรับปรุง พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๖๐วันที่ ๑๔ ก.พ. ๒๕๖๗ ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายญัตติด่วน มาตรการอารักขาถวายความปลอดภัย หลังเกิดเหตุ กรณี “ขบวนเสด็จ” ว่า ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กระผมและเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งสิ้น ๒๕ ท่าน ขอเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่อง การถวายความปลอดภัย ตามข้อบังคับการประชุมดังที่ท่านประธานรับทราบดีอยู่แล้วเหตุผลที่ต้องเสนอญัตติด่วนในเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้เหตุผลประการที่ ๑ เนื่องจากกระผมและพรรคประชาธิปัตย์ที่กระผมสังกัด มีจุดยืนชัดเจนอย่างน้อยในประเด็นที่ ๑ จุดยืนในเรื่องของการให้ความสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจุดยืนประการที่ ๒ ก็คือมีจุดยืนในการที่ต้องการธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา ๑๑๒ ดังที่อารยประเทศทำกันในประการที่ ๓ พวกกระผมเห็นว่า การถวายความปลอดภัย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งการถวายความปลอดภัยที่ว่านั้น นับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ ซึ่งเป็นระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับเป็นพระราชอาคันตุกะ ซึ่งการถวายความปลอดภัยกับบุคคลเหล่านี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังที่ผมกราบเรียน และที่จำเป็นต้องเสนอญัตติในวันนี้ ก็เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นที่เคารพสักการะยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เวลา ๑๘.๒๐ น. จึงเป็นเหตุที่กระผมและเพื่อนสมาชิก จำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา และมิอาจจะเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้วัตถุประสงค์ของญัตตินี้มี ๒ ประการ ประการที่ ๑ ก็คือ กระผมมีความประสงค์ให้สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ส่งความเห็นของสภาเพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ ในประการที่ ๒ ก็คือ กระผมมีความประสงค์ให้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร รับไปประกอบการพิจารณาด้วยกระผมมีความเห็นต่อพฤติกรรมการคุกคามขบวนเสด็จอย่างน้อย ๓ ประการประการที่ ๑ ก็คือ กระผมถือว่าเป็นการกระทำอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าการกระทำที่เกินกว่าที่คนไทยผู้จงรักภักดีทั้งประเทศจะยอมรับได้ เป็นการย่ำยีพระผู้ทรงเป็นหัวใจของประชาชนในประการที่ ๒ ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนก็คือว่า การที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนนยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรโดยชัดแจ้งเป็นประจักษ์เหนือคำบรรยายใดๆ อยู่แล้ว แม้จะต้องทรงงานหนัก ต้องเสด็จฯ ให้ทันเวลาก็ตามและในประการต่อมา กระผมเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย คือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ฐานันดรใด และต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่นั้นภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฎหมาย เฉกเช่นอารยประเทศทุกประเทศในโลกที่เขาทำกันในประการถัดมากระผมเห็นว่า ผู้มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย นอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้ว กลไกสำคัญก็คือรัฐบาล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ซึ่งที่กระผมกราบเรียนนี้เป็นไปตามกฎหมาย ที่มีชื่อว่าพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยเฉพาะระบุไว้ชัดแจ้งใน มาตรา ๖ ที่บอกว่าให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งซึ่งประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย หรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย กระผมไม่ประสงค์จะทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องการเมือง แต่ว่านายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะผู้สั่งปฏิบัติราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องยอมรับว่าท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้าจริงๆเหตุเกิดวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ถัดมาวันที่ ๕-๖-๗-๘-๙ จนกระทั่งวันที่ ๑๐ ล่วงเข้าวันที่ ๗ เกิดเหตุปะทะกันขึ้นที่ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสยาม วันถัดมาอีกวันหนึ่งรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ หลังเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จ ๗-๘ วัน นายกรัฐมนตรีจึงส่งสัญญาณเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง มาหารือเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จกระผมจึงขอถือโอกาสนี้ เสนอข้อเสนอ ๔ ข้อ เพื่อให้สภานี้ได้โปรดพิจารณา และส่งรัฐบาลและกรรมาธิการวิสามัญได้รับไปดำเนินการต่อไปประการที่ ๑ กระผมเห็นว่ารัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัย ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ที่กระผมกราบเรียนแล้ว รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย สมพระเกียรติ ด้วยความสำนึก กระตือรือร้น จงรักภักดี และควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาอีกประการที่ ๒ กระผมขอเสนอว่า ซึ่งเป็นหน้าที่อยู่แล้ว แต่ขอย้ำตรงนี้ว่าเป็นความเห็นร่วมกันของสภาด้วย ให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่ากับฝ่ายใด เพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคตประการที่ ๓ ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมาก ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและทั้งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดี มาตรา ๑๑๒ เพราะนอกจากประการที่ ๑ จะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ประการที่ ๒ ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก และในประการที่ ๓ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่สมควรส่งเสริมให้มีการนิรโทษกรรม ความผิดตาม มาตรา ๑๑๒ในประการที่ ๔ กระผมเห็นว่า รัฐบาลควรจะได้ตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบ รอบด้าน ว่า สมควรที่จะมีการปรับปรุง พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะกับผู้ละเมิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือเมื่อเกิดเหตุผู้บังคับใช้กฎหมายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้ เช่น มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๖ เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาว่าเหมาะสม สมควรหรือไม่ และจะดำเนินการในรูปแบบไหน อย่างไรต่อไป รวมทั้งการที่จะต้องพิจารณาว่าจำเป็นที่จะต้องทบทวนกฎระเบียบมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่กล่าวโดยสรุปก็คือ ๔ ข้อนี้ ผมขอให้สภาได้โปรดพิจารณาส่งความเห็นเหล่านี้ไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไปและเพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไปสุดท้ายในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง และในฐานะพสกนิกรชาวไทย ผู้จงรักภักดีคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศ กระผมขอถือโอกาสนี้ ถวายกำลังใจแด่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความจงรักภักดียิ่ง ขอบคุณครับท่านประธาน