วันศุกร์, 8 พฤศจิกายน 2567

ตรวจ “มะเร็งเต้านม-พยาธิใบไม้ตับ” ฟรี บอร์ด สปสช.มอบ ๒ สิทธิประโยชน์

19 ม.ค. 2024
55

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ๒ สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข ประกอบด้วย ๑.การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ปีละ ๑ ครั้ง ในสตรีกลุ่มเสี่ยงอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม กำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองในปี ๒๕๖๗ จำนวน ๔๐,๖๐๐ ราย ใช้งบ ๘๗.๓๖ ล้านบาทโดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอของบกลางดำเนินการ ทั้งนี้ เป็นการสนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของรัฐบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งและผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค ส่วนที่กำหนดให้สิทธิบริการผู้หญิงที่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไปนั้น เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงเน้นตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง เพราะจากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะอยู่ในกลุ่มอายุ ๕๐-๕๙ ปี มากที่สุด ซึ่งทางการแพทย์ การตรวจคัดกรองญาติสายตรงต้องลบอายุจากญาติที่เป็นมะเร็งเต้านมออก ๑๐ ปี และควรตรวจทุก ๑ ปี และ ๒.การตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยการตรวจปัสสาวะ OV-Rapid Diagnosis Test (OV-RDT) เป็นเทคนิคใหม่ที่ตรวจหาแอนติเจนหรือดีเอ็นเอก่อโรคจากปัสสาวะ ซึ่งเทคนิคเดิมเป็นการตรวจจากอุจจาระ ซึ่งหากพบความผิดปกติจะได้ทำการตรวจรักษาขั้นต่อไป เช่น อัลตราซาวด์บริเวณตับ ท่อน้ำดี เนื่องจากโรคพยาธิใบไม้ตับมีผลโดยตรงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้ และมักพบมากในผู้ชายวัยแรงงาน อายุ ๔๕-๕๕ ปี พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ หากตรวจคัดกรองได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงและรักษาให้หายได้ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบสิทธิประโยชน์ตรวจมะเร็งเต้านมในกลุ่มเสี่ยง พิจารณาข้อมูลจากผลการศึกษาการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ และข้อเสนอจาก Service plan สาขาโรคมะเร็ง สธ. โดยหากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตสูง (ระยะที่ ๑ อัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ ๙๔.๔๐% ระยะที่ ๒ อยู่ที่ ๘๕% ระยะที่ ๓ อยู่ที่ ๕๖.๖๐% และระยะที่ ๔ อยู่ที่ ๒๘.๓๐%) ผลการรักษาดี ภาวะแทรกซ้อนต่ำ และสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่