วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ตอบโพสต์ของนายกฯเศรษฐา

ผมเขียนเรื่อง “คนไทยจ่ายพันล้านชมคอนเสิร์ต” ในคอลัมน์นี้ฉบับวันจันทร์ พูดถึงสองคอนเสิร์ตดัง Coldplay และ Ed Sheeran มาแสดงในเมืองไทย ๔ รอบ โกยรายได้กลับไปเกือบพันล้านบาท ยังไม่นับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกหลายหมื่นคนที่บินมาชมคอนเสิร์ตในเมืองไทยอีก ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยวิกฤติจริง ตั๋วคอนเสิร์ตใบละ ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท คงขายไม่ได้ นักร้องดังระดับโลกคงไม่บินมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้สแกนบทความของผมโพสต์ลงใน X (ทวิตเตอร์เดิม) พร้อมกับความเห็นของท่านนายกฯประกอบด้วยวันนี้ผมเลยขอนำโพสต์ใน X ของ นายกฯเศรษฐา มาลงให้อ่านกันเต็มๆครับ“การมีคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกมาจัดที่เมืองไทยคือตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤติ” คนที่พูดแบบนี้ถ้าไม่ได้พูดเพราะอคติก็พูดเพราะมองเรื่องเศรษฐกิจฉาบฉวยคอนเสิร์ตระดับโลกที่มาจัดในประเทศไทยสะท้อนภาพสามภาพ๑.ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ภาพลักษณ์ของประเทศประชาธิปไตย เป็นประเทศที่มีความปลอดภัย มีความพร้อมเรื่องสาธารณูปโภคที่รองรับคอนเสิร์ตระดับโลกได้ เป็น destination ทางดนตรี ศิลปะบันเทิงระดับนานาชาติ เหล่านี้ช่วยสร้าง ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์ว่า ประเทศนี้น่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน๒.การที่ประเทศไทยมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ จะเห็นว่ากลุ่มลูกค้ามีทั้งคนไทย expat และอาจมีคนที่ตั้งใจบินมาประเทศไทยเพื่อดูคอนเสิร์ต๓.กลุ่มคนไทยที่มีกำลังซื้อเป็นคนกลุ่มเล็กๆ จุดนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่ และเป็นปัญหาที่รัฐบาลและตัวผมพูดมาตลอดว่าต้องแก้ไขเราจะกระจายความมั่งคั่งออกไปสู่ประชาชนในวงกว้างที่สุดได้ ขนาดเศรษฐกิจเราต้องใหญ่กว่านี้ และนี่คือสิ่งที่ผมบอกว่าเรามีวิกฤติ GDP เราไม่โตและถดถอยต่อเนื่องมา ๑๐ ปี หนี้ครัวเรือนสูง หนี้นอกระบบคือวิกฤติของชาติคน ๑% ของประเทศไม่เดือดร้อน แต่เวลาดูว่าประเทศวิกฤติทางเศรษฐกิจ เราดูที่เศรษฐกิจของคน ๙๙% ครับไม่ได้แปลว่าเราจะไม่จัดคอนเสิร์ต เพราะรัฐบาลที่ทำงานเป็น ย่อมรู้ว่าคอนเสิร์ตระดับโลกที่มาจัดเมืองไทย เป็นทั้ง branding ของประเทศ และจะเป็นเครื่องมือในการสร้างเศรษฐกิจ รัฐบาลมีนโยบายทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการจัดงานเทศกาลและ exhibition ระดับโลก เพื่อดึงคนให้เข้ามาร่วมงานและใช้จ่ายในประเทศไทยเพราะเศรษฐกิจเราวิกฤติ เราจึงต้องทำหลายๆอย่างเพื่อกอบกู้ประเทศขึ้นมา เราต้องทำทั้งเพิ่มขนาดของ GDP ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นสากลบนเวทีโลก จากมิติของดนตรีและศิลปะครับสรุปจากโพสต์ของ นายกฯเศรษฐา ก็คือ ท่านไม่พอใจที่ผมบอกว่า เศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ แต่ ท่านเห็นว่าวิกฤติแล้ว เรื่องนี้ผมต้อง แก้ข้อกล่าวหาของนายกฯ คือ ผมไม่ได้พูดเพราะอคติหรือมองเรื่องเศรษฐกิจฉาบฉวยเกินไป แต่ผมดูจากข้อมูลจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เชื่อถือได้ เช่น แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ศูนย์วิจัยของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งต่างก็เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ ข้อมูลเหล่านี้นายกฯก็เห็น นักธุรกิจก็เห็น คนทั่วไปก็เห็นเรื่องที่ผมเห็นด้วยกับ นายกฯเศรษฐาฯในโพสต์ก็คือ การสร้าง GDP ไทยให้ใหญ่กว่านี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นี่คือ การมองภาพเศรษฐกิจที่ถูกต้อง การบริหารประเทศผู้นำต้องมองด้วย “ทัศนคติเชิงบวก” ถ้ามองด้วย “ทัศนคติเชิงลบ” โอกาสสำเร็จก็ยาก ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอ Google ก็พูดไว้ ความสำเร็จของกูเกิลคือ “มองโลกในแง่บวก” แล้วความฝันทุกอย่างก็จะเป็นจริง ผมก็ฝากไปถึง นายกฯเศรษฐา ด้วยความรักประเทศเช่นเดียวกันครับ.“ลม เปลี่ยนทิศ”คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม