วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

"นพดล" เสนอ รัฐบาลเร่งติดตามสถานการณ์ "เมียนมา" ใช้การเจรจาสู่สันติภาพ

นพดล ปัทมะ ประธาน กมธ.ต่างประเทศ เสนอรัฐบาลเร่งติดตามสถานการณ์ “เมียนมา” ร่วมมืออาเซียน จีน อินเดีย ขอให้ใช้การเจรจาสู่สันติภาพ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังจำเป็น ไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนก็ควรได้รับทั้งนั้น วันที่ ๘ ม.ค. ๖๗ นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์เมียนมาที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และขอให้รัฐบาลเร่งเพิ่มบทบาท ทำงานร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดีย เปิดช่องทางสื่อสารไทย-เมียนมา กับสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ขอให้ใช้การพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย พร้อมถามความคืบหน้าการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างไทยและเมียนมาที่ได้ประกาศความจำนงไปตั้งแต่ ธ.ค. ๒๕๖๖โดยสถานการณ์ล่าสุด กองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ได้ออกแถลงการณ์ยึดเมืองเล่าก์ก่ายได้สำเร็จ โดยไม่มีกองทัพเมียนมาอยู่ในพื้นที่ ขณะนี้สถานการณ์เมียนมาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คณะกมธ.ต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องและอยากเห็นเสถียรภาพการเมืองและสันติภาพในเมียนมา แม้จะเป็นเรื่องภายใน แต่ปัญหาในเมียนมากระทบไทยและอาเซียนนายนพดล กล่าวต่อว่าคณะ กมธ.ต่างประเทศ เคยมีข้อเสนอ ๕ ข้อไปยังรัฐบาล ได้แก่ ๑) ให้รัฐบาลเพิ่มบทบาท ทำงานร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดีย ผลักดันฉันทามติอาเซียน ๕ ข้อ (Five Point Consensus) ๒) เปิดช่องทางสื่อสารไทย-เมียนมา กับฝ่ายรัฐบาล SAC ฝ่าย NUG และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ๓) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาใช้การเจรจาเพื่อหาทางออก ๔) เร่งตั้งคณะกรรมการพิเศษดูแลและดำเนินการเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพม่า และ ๕) ให้ดูแลผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมาบนพื้นฐานมนุษยธรรม และส่งเสริมให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและสนับสนุนการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่สามต่อไปนายนพดล กล่าวอีกว่า ทางไทยสามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ภายใต้ขอบเขตของการทำงานร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดีย ทั้งนี้รัฐบาลควรเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ในกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะการดูแลและช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย เพราะการสู้รบจะนำมาซึ่งสถานการณ์ทางมนุษยธรรม และทุกฝ่ายควรได้รับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม.