ประธานกมธ.การต่างประเทศ ยัน พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยังยึดตาม MOU ๔๔ ย้ำไทยไม่เสียประโยชน์ เกาะกูดยังเป็นของประเทศ ปัดข่าว “ทักษิณ-ฮุนเซน” คุยเรื่องพื้นที่ทับซ้อนวันที่ ๒๙ ก.พ. ๒๕๖๗ ที่อาคารรัฐสภา นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ และคณะ แถลงข่าว คณะกมธ.ได้ประชุมหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเอเชียตะวันออก กรมแผนที่ทหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมประชุมคณะกมธ. การต่างประเทศ ทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่า กรอบเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้ขีดตาม MOU ๒๕๔๔ ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเจรจา โดยไทยจะไม่เสียประโยชน์ ซึ่งตาม MOU ๔๔ การเจรจาประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและเรื่องเขตพัฒนาร่วม จะต้องเจรจาควบคู่กันไป และแยกกันไม่ได้ การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่ต้องกระทำผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือเจทีซี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่างสองประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคง และอื่นๆ สามารถเชื่อมั่นได้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบจะมุ่งรักษาประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและไม่เสียสิทธิด้านเขตแดน ตามที่มีการบิดเบือนในสื่อต่างๆ โดยในขณะนี้ ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการเจทีซี จึงยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ดังนั้น ที่มีการเสนอข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หารือประเด็นผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซน จึงไม่เป็นความจริง ในประเด็นเกาะกูดนั้น ประเทศไทยยึดถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย เนื่องจาก MOU ๔๔ ไม่ได้ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากเส้นที่ลากโดยไทย ดังนั้น จึงต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกันต่อไป ที่มีการบิดเบือนว่า MOU ๔๔ เป็นการยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชานั้น จึงไม่เป็นความจริง ตัวแทนหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่างสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเจรจากับกัมพูชาเพื่อนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และหวังลดค่าครองชีพให้ประชาชน ทั้งนี้ ไม่ให้กระทบสิทธิทางด้านเขตแดน และผลการเจรจานั้นจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย