วันศุกร์, 8 พฤศจิกายน 2567

นักวิทย์ทุบสถิติผลิตพลังงานด้วยนิวเคลียร์ฟิวชัน อีกก้าวสู่พลังงานสะอาด

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทำลายสถิติการผลิตพลังงานด้วยปฏิกิริยาฟิวชันได้สำเร็จ ทำให้ความฝันที่จะมีพลังงานสะอาดใช้ไม่มีวันหมด เข้าใกล้ความจริงอีก ๑ ก้าวสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยพลังงานฟิวชัน ‘คัลแฮม’ ใกล้เมืองออกซ์ฟอร์ด ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ก.พ. ๒๕๖๗ ว่า พวกเขาทำสถิติใหม่ในการผลิตพลังงานด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันได้สำเร็จ ทำให้โลกขยับเข้าใกล้แหล่งพลังงานสะอาดแห่งอนาคตเข้าไปอีกก้าวแล้วนักวิทยาศาสตร์ใช้เครื่อง โทคาแมค (Tokamak) ชื่อว่า ‘Joint European Torus’ (JET) ซึ่งมีลักษณะเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่รูปทรงโดนัท ผลิตพลังงานฟิวชันออกมาได้ ๖๙ เมกะจูล ต่อเนื่องเป็นเวลา ๕ วินาที โดยใช้เชื้อเพลิงเพียง ๐.๒ มิลลิกรัมเท่านั้นทั้งนี้ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเป็นกระบวนการเดียวกันที่สร้างพลังงานให้แก่ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์อื่นๆ และถูกยกให้เป็นอนาคตของพลังงานสะอาด เพราะเชื่อกันว่า นิวเคลียร์ฟิวชันสามารถผลิตพลังงานได้มหาศาล แต่ใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อย และไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่าง คาร์บอน ออกมาระหว่างกระบวนการผลิตเลยในการทดลองล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพวกเขาป้อนธาตุ ดิวเทอเรียม (deuterium) และ ทริเทียม (tritium) เข้าไปในเครื่องโทคาแมค โดยธาตุทั้งสอง เป็นไอโซโทป ๒ ใน ๓ ชนิดของอะตอมไฮโดรเจนที่คาดกันว่า จะถูกใช้ในโรงงานผลิตพลังงานฟิวชันเพื่อการพาณิชย์ในอนาคตการสร้างพลังงานฟิวชัน ทีมวิจัยต้องเพิ่มอุณหภูมิของเครื่อง โทคาแมคไปถึง ๑๕๐ ล้านองศาเซลเซียส หรือราว ๑๐ เท่าของแกนกลางดวงอาทิตย์ โดยความร้อนสุดขีดนี้จะบีบให้ดิวเทอเรียมและทริเทียมรวมตัวเข้าด้วยกัน และก่อตัวเป็น ฮีเลียม ซึ่งกระบวนการรวมตัวดังกล่าวจะปล่อยความร้อนออกมามหาศาลภายในเครื่องโทคาแมคเต็มไปด้วยแม่เหล็กพลังงานสูง เพื่อจับพลาสมาที่อยู่ภายในเอาไว้ จากนั้นความร้อนดังกล่าวจะถูกควบคุมแล้วนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าอนึ่ง นี่เป็นการทดลองผลิตพลังงานด้วยนิวเคลียร์ฟิวชันครั้งสุดท้ายสำหรับเครื่อง JET แล้ว เนื่องจากมันถูกใช้งานมานานกว่า ๔๐ ปี แต่สถิติใหม่ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับโครงการฟิวชันในอนาคต โดยเครื่องโทคาแมคที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ITER ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ฝรั่งเศส กับเครื่อง DEMO ที่จะสร้างต่อจาก ITERอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพลังงานฟิวชันจะเป็นทางออกของวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่สาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลฝีมือมนุษย์ แต่การจะผลิตในเชิงพาณิชย์ยังต้องใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีอีกหลายปี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ในตอนที่เทคโนโลยีนี้เสร็จสมบูรณ์ ก็อาจสายเกินไปแล้วที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาโลกร้อนติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreignที่มา : cnn