วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

นายกฯ ไทย-ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หารือ กระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ

นายกฯ และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ร่วมแถลงข่าว หารือกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ เศรษฐกิจ-การเมือง-สิทธิมนุษยชน-ความเท่าเทียมทางเพศ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกันต่อจากนี้ วันที่ ๑๑ มี.ค. เวลา ๑๓.๑๐ น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส (Palais de l’Elysée) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส แถลงข่าวร่วมกัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวโดยสรุปว่าทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการมุ่งมั่นเพื่อรับมือประเด็นความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสุดท้าย จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งทวิภาคี และพหุภาคีเกิดเป็นสันติภาพ และความมั่นคงในโลก นายกฯ ขอบคุณการต้อนรับที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส นับเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรปนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และยินดีกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Paris ๒๐๒๔ ของฝรั่งเศส หวังว่าจะมีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดีมาครงที่ไทยอีกครั้ง ไทยและฝรั่งเศสมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ จุดยืนและวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่คล้ายคลึงกันในหลายประการ โดยนายกฯ ได้กล่าวถึง ๔ ประการ พื้นฐานสำคัญที่มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันดังนี้ หนึ่ง ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่า ๓๐๐ ปี โดยปี ๒๕๖๘ จะครบรอบ ๓๔๐ ปี ของการติดต่อสัมพันธ์ และในปี ๒๕๖๙ ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๗๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูต สอง ทั้งสองประเทศให้คุณค่าแก่ค่านิยมสากลในหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ สาม มีจุดยืนร่วมในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้มีมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ขณะที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเองก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิก ที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กันมากขึ้นระหว่างภูมิภาค ช่วยสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือของนานาประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรม และกฎบัตรสหประชาชาติ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ และ สี่ รัฐบาลไทยและฝรั่งเศส มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และดิจิทัล โดยนายกฯ กล่าวถึงการแถลง ๘ วิสัยทัศน์เพื่อจุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคใน ๘ ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน การขนส่งในภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน และจะได้เชิญชวนฝรั่งเศสร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทย ดังนี้ หุ้นส่วนด้านการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การบิน และการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย ๓๐@๓๐ โดยจะหารือถึงความร่วมมือยานยนต์ พลังงานสะอาด การบินและการขนส่ง รวมถึงเชิญชวนบริษัทชั้นนำด้านการบริหารจัดการท่าเรือของฝรั่งเศส พิจารณาการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ทั้งนี้ นายกฯ ยังชื่นชมข้อริเริ่ม Paris Pact for People and the Planet หรือ ๔P Initiative ของฝรั่งเศสที่มุ่งขจัดความยากจนไปพร้อมกับการอนุรักษ์โลก และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำของไทยเช่นกัน หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยและฝรั่งเศสต่างเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญ นายกฯ เชื่อมั่นว่าหากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เสร็จสิ้นได้ภายในปี ๒๕๖๘ มูลค่าการค้าและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยยังได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอีกด้วย นายกฯ หวังที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสพัฒนาวัตถุดิบ และเทคนิคการออกแบบผ้าไหมและผ้าไทยร่วมกับสถาบันแฟชั่นชั้นนำของฝรั่งเศส และร่วมมือกับแบรนด์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำของฝรั่งเศสในการนำสินค้าแฟชั่นไทยเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศส รวมถึงการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ด้วย หุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งนายกฯ จะเสนอให้มีการร่วมทุนระหว่างสองฝ่าย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตและศูนย์ซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของภูมิภาค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง ๒ วันที่ผ่านมา ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศสกว่า ๒๐ แห่งจากภาคยานยนต์ การบิน พลังงานสะอาด แฟชั่น กีฬา การโรงแรม และการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสและลู่ทางด้านธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ ๒ ของชาวฝรั่งเศส ในขณะที่ นักท่องเที่ยวไทยกว่า ๒ แสนคนที่ท่องเที่ยวในฝรั่งเศสถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีรายได้สูง นายกฯ ย้ำว่า หวังว่าฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนในเรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าเขตเชงเกนให้แก่คนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน พร้อมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ยั่งยืน และรอบด้านกับฝรั่งเศส จากนี้ไปอีกหลายทศวรรษ