กลายเป็นภาพเหตุการณ์ระทึกขวัญรับวันขึ้นปีใหม่ ในสนามบินนานาชาติ “ฮาเนดะ” กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยจำนวนมากคงเคยได้ใช้บริการหลังเกิดความผิดพลาดทางการสื่อสารอย่างไม่น่าเชื่อ เครื่องบินตรวจการณ์ชายฝั่งรุ่นบอมบาเดียร์-๘ ไปโผล่อยู่บน “รันเวย์” ที่เครื่องบินโดยสารอีกลำกำลังร่อนลงจอด โดยเป็นเครื่องแอร์บัส เอ ๓๕๐ สายการบิน “เจแปน แอร์ไลน์ส” เที่ยวบิน ๕๑๖ บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือ ๓๗๙ ชีวิตการปะทะที่เกิดขึ้นส่งผลให้เครื่องบินแอร์บัสเกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง จนทีแรกคิดในแง่ร้ายได้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากน้อยเพียงใดและหนีตายออกจากเครื่องได้กี่คน แต่งานนี้ผลปรากฏว่าเหมือนปาฏิหาริย์ ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดไม่มีใครเสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว มีเพียงฟกช้ำ ๑ คน และรู้สึกไม่สบายตัว ๑๓ คนแน่นอนว่าบรรดาสื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นต่างเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ปาฏิหาริย์ ๑๘ นาที” ซึ่งคือเวลานับตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงเวลาที่นักบินคนสุดท้ายลี้ภัยออกจากเครื่องบินมรณะ แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่ควรได้รับคำชมมากที่สุดคือสติและประสิทธิภาพของลูกเรือในเคบิน ๑๒ คนtt ttจากปากคำของผู้รอดชีวิตเปิดเผยว่า ทันทีที่ลูกเรือรับรู้ว่า เริ่มมีผู้โดยสารโวยวายว่าเครื่องบินไฟไหม้ สิ่งแรกที่พวกเขาดำเนินการคือ ขอความร่วมมือจากทุกคนให้สงบสติอารมณ์และนั่งอยู่กับที่ อย่าลุกขึ้นยืน ทั้งยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลังจากพบว่า “ระบบกระจายเสียง” ในห้องเคบินขัดข้องด้วยการตะโกนและใช้โทรโข่ง ขนาดเล็ก“หลังจากนั้นไม่กี่นาที ควันก็เริ่มคืบคลานเข้ามาในห้องผู้โดยสารจนบรรยากาศขมุกขมัว ทำให้บรรดาลูกเรือได้สั่งการต่อทันทีว่า ขอให้ผู้โดยสารทุกคนทิ้งสัมภาระ ถอดส้นสูง และก้มตัวติดพื้น ก่อนชี้ทางให้ผู้โดยสารออกจากประตูส่วนหน้าอย่างมีระเบียบเรียบร้อย”ทั้งนี้ อดีตลูกเรือเจแปน แอร์ไลน์ส เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีอังกฤษว่า ลูกเรือทุกคนของสายการบินได้รับการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด ในเรื่องการอพยพและช่วยเหลือผู้โดยสารเป็นเวลาสูงสุด ๓ สัปดาห์ ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ทำงานบริการผู้โดยสารบนเครื่องบินพาณิชย์การฝึกซ้อมจะรวมถึงการควบคุม “น้ำเสียง” เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก และระดับ “ความดังของเสียง” เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนได้ยินอย่างทั่วถึง การฝึกซ้อมดังกล่าวยังมีขึ้นทุกๆปี พร้อมด้วยการสอบข้อเขียน การจัดเสวนาศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และการจำลองเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ เช่น เวลาเกิดเหตุไฟไหม้บนเครื่อง หรือกรณีที่เครื่องบินต้องร่อนลงจอดฉุกเฉินบนผิวน้ำ“แน่นอนว่าในสถานการณ์จริงนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะมั่นใจได้ว่าผู้โดยสารจะมีอาการเช่นไร จะแตกตื่นหรือไม่ สิ่งที่ลูกเรือเจแปน แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน ๕๑๖ ประสบความสำเร็จในวันนั้น ถือเป็นความสำเร็จที่คนทั่วไปยากจะจินตนาการได้ การเอาผู้โดยสารออกมาได้ทุกคนคือผลลัพธ์ของการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างลูกเรือกับผู้โดยสารที่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด”tt ttส่วนนายเอ็ด กาเลีย ผู้อำนวยการภาควิศวกรรม สาขาความปลอดภัยทางอัคคีภัยประจำมหาวิทยาลัยกรีนิช กรุงลอนดอนของอังกฤษ มองด้วยว่า ปัจจัยสำคัญอีกประการของเรื่องนี้คือ ไม่มีผู้โดยสารที่หยิบสัมภาระส่วนตัวออกจากเครื่องมาด้วยแม้แต่รายเดียว ทุกคนยอมทิ้งข้าวของไว้ในห้องเคบิน และหากผู้โดยสารพากันหยิบข้าวของออกจากช่องเก็บสัมภาระ เรื่องนี้ก็อาจเป็นหนังคนละม้วนการหยิบสัมภาระติดมือจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการอพยพ หากมีคนหยิบหนึ่งคน คนอื่นก็อาจเอาเยี่ยงอย่าง และทำให้การหนีออกจากเครื่องอยู่ในสภาพทุลักทุเล สัมภาระอาจมากีดขวางทางเดิน และทำให้บางคนหนีไม่ทันเวลา ยิ่งหากดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน ๕๑๖ แล้ว ก็ต้องเรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่อันตราย เพราะเครื่องบินจอดในสภาพหัวปักลง และทำให้ทางออกมีเพียงประตูหน้า ขณะที่ประตูกลางก็อยู่ใกล้ไฟ ประตูหลังก็อยู่ในสภาพที่หางเชิงขึ้น และทำให้เบาะนิรภัยมีความชัน ผู้โดยสารอาจได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น นอกจากประสิทธิภาพของลูกเรือแล้ว ยังต้องชื่นชมความร่วมมือของผู้โดยสารด้วยเช่นกันนอกจากนี้ ประสบการณ์จากอดีตมาถึงปัจจุบันยังทำให้การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทีมดับเพลิงในสนามบินฮาเนดะที่ตั้งเป้าว่าจะต้องเข้าถึงตัวเพลิงให้ได้ภายใน ๒ นาทีหลังเกิดเหตุ เข้ารับมือสกัดกั้นเปลวเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปกป้องทางหลบหนีของผู้โดยสารและลูกเรือจนอพยพออกมาได้ทั้งหมด ไปจนถึงปัจจัยเกื้อหนุนในเรื่องวัสดุของตัวเครื่องบินแอร์บัสเอ ๓๕๐ ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ใช้ส่วนผสมของคาร์บอน-ไฟเบอร์ ที่ทนทานต่อแรงกระแทกและเหตุไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นตามมาถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ลูกเรือเครื่องบินตรวจการณ์ชายฝั่งที่กำลังจะบินไปปฏิบัติการช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวในจังหวัดอิชิคาวะ ต้องจบชีวิตลง ๕ คน แต่อย่างน้อยก็ยังเลวร้ายน้อยกว่า ๓๗๙ ชีวิต ต้องมาสังเวยพระเพลิงรับปีใหม่ ๒๕๖๗.วีรพจน์ อินทรพันธ์คลิกอ่านคอลัมน์ “๗ วันรอบโลก” เพิ่มเติม
ปัจจัยรอดตาย เที่ยวบิน JAL๕๑๖
เรื่องที่เกี่ยวข้อง