วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ฝุ่นกทม. ติดอันดับ ๑๐ ของโลก เมืองหลวงที่มีมลพิษ "เศรษฐา" โดดลงกําชับจี้ขันนอต

15 ก.พ. 2024
69

เผย กทม.เป็นเมืองที่มีมลพิษติดอันดับ ๑๐ ของโลก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ เดินสายกำชับแก้ปัญหาฝุ่น PM ๒.๕ ถึงกับร้องขอให้ผู้ว่าฯทั่วประเทศขันนอตลงพื้นที่สำรวจบูรณาการกับหน่วยอื่นให้มากขึ้น เชื่อ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของฝุ่นควันมาจากไอเสียรถยนต์ ด้านตำรวจ บก.ปทส. ระดมกำลังป้องกันมลพิษและฝุ่น PM ๒.๕ ตรวจโรงงานใน ๗ จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง พบความผิดฐานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตรวม ๔ แห่งสถานการณ์ฝุ่นในไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติ หลายหน่วยงานเกี่ยวข้องยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM ๒.๕ แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” พบ ๔๔ จังหวัดของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดย ๕ อันดับแรก คือ จ.อ่างทอง ๑๘๘.๑ ไมโครกรัม จ.สมุทรสงคราม ๑๔๘.๗ ไมโครกรัม จ.สระบุรี ๑๒๘.๔ ไมโครกรัม จ.สิงห์บุรี ๑๒๗.๘ ไมโครกรัม และ จ.สมุทรสาคร ๑๒๖.๑ ไมโครกรัม และยังคงพบค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในอีก ๒๒ จังหวัดของประเทศ สำหรับพื้นที่ กทม.พบค่าฝุ่น PM ๒.๕ เกินเกณฑ์มาตรฐานกว่า ๔๘ เขต อาทิ เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตคลองสามวา เขตบางบอน เป็นต้น ขณะที่เว็บไซต์ iqair จัดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกพบว่า กทม. เมืองหลวงของประเทศไทยอยู่อันดับ ๑๐ ของโลก ขณะที่ จ.เชียงใหม่ อยู่อันดับที่ ๒๑ ของโลกที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง เดินทางไปยังศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM ๒.๕ มีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. รายงานสถานการณ์ ทั้งนี้ นายกฯ ตรงเข้าไปตรวจสถานการณ์ภาพรวมทั่วประเทศจากแผนภาพความร้อนและรับฟังรายงานที่แจ้งว่าภาพรวมทั่วประเทศถือว่าดีขึ้น แต่นายกฯ กำชับอยากให้ทุกหน่วยงานเพิ่มความเข้มข้นบูรณาการทำงานร่วมกัน เคยลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่หลายครั้ง ขอชื่นชมอยากให้ จ.เชียงใหม่เป็นโมเดลให้กับพื้นที่อื่นๆ นอกจากปัญหาในประเทศแล้วยังมีปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะฝั่ง สปป.ลาวและเมียนมา“วันนี้ตัวเลขต่างๆที่ออกมาเขียนได้ชัดเจน ผมอยากให้รวบรวมข้อมูลว่าหากเกิดอะไรขึ้นหน่วยงานรับผิดชอบต้องติดต่อกับใคร สั่งการไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าฯทั่วประเทศลงพื้นที่ประสานฝ่ายความมั่นคงสำรวจจุดฮอตสปอต ส่วนใน กทม.ให้ Work From Home ระยะยาว ต้องมาพูดคุยกันเรื่องการจำกัดรถยนต์ที่มีไอเสียหรือรถที่มีเครื่องยนต์ดีเซลจะทำอย่างไร มาตรการสนับสนุนเปลี่ยนไปใช้รถอีวีก็มีความสำคัญ ขณะนี้ กทม.มีจุดความร้อนเยอะมาก สาเหตุเกิดจากควันรถยนต์ ผู้ว่าฯ กทม.เคยพูดถึงการย้ายท่าเรือคลองเตยออกไปอาจเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน ส่วนการหยุดงานก่อสร้างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์มาจากไอเสียรถยนต์” นายเศรษฐากล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐ มนตรี เรียกประชุมติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM ๒.๕ เป็นการด่วน โดยไม่มีในวาระงานล่วงหน้า มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก และทีมงานกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม โดยนายกฯ กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า จ.เชียงใหม่ทำได้ดี ต่อไปนี้ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดต้องลงพื้นที่ให้เยอะขึ้นไปบัญชาการเอง ทั้งเรื่องการเก็บวัชพืชป้องกันไฟที่จะเกิดขึ้น ได้คุยกับ ผู้บัญชาการทหารบกเรื่องให้นำรถลำเลียงพลมาใช้ลำเลียงวัชพืชทางการเกษตรเอาไปทำปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มแทนการเผาไม่ต้องฝังกลบ ขอเถอะ ควรต้องลงพื้นที่ให้เยอะขึ้นไปสำรวจกันหน่อย ใส่รองเท้าบูตยอมเหนื่อยกันหน่อย มือเปื้อนดิน เท้าเปื้อนโคลน ถ้าผู้ใหญ่ลงเองมันจะได้ใจวันเดียวกัน พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธ์ ผบก.ปทส. สั่งการ พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา รอง ผบก.ปทส. พ.ต.อ.วันพิชิต วัฒนศักดิ์มณฑา ผกก.๖ บก.ปทส. นำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ๗ จังหวัด ประกอบด้วย จ.สงขลา จ.สตูล จ.ตรัง จ.พัทลุง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM ๒.๕จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆรวม ๓๓ แห่ง พบโรงงานที่กระทำผิด ๔ แห่ง ประกอบด้วย โรงงานเค เจ ไม้ ยาง จ.สงขลา โรงงานวูจิน จ.สงขลา ร้านค้าของเก่า ก.อะไหล่ยนต์ จ.พัทลุง หจก.โรงนํ้าแข็งมิตรสตูล จ.สตูล เชิญตัวเจ้าของกิจการมาดำเนินคดีในข้อหาประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พระราชบัญญัติสาธารณสุขฯ ส่วนโรงงานอีก ๒๙ แห่ง ได้กำชับแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและฝุ่น PM ๒.๕ ต่อไปอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่