ซุปเปอร์โนวา (Supernova) เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการล่มสลายของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่ามวลดวงอาทิตย์ ๘-๑๐ เท่า ถือเป็นแหล่งสำคัญขององค์ประกอบทางเคมี เช่น คาร์บอน ออกซิเจน ซิลิคอน และเหล็ก ที่สำคัญต่อการก่อเกิดสิ่งมีชีวิต นักดาราศาสตร์เผยว่า เศษซากที่อัดแน่นมหาศาลจากการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมากจะก่อตัวเป็นดาวนิวตรอน และแกนกลางที่ยุบตัวของดาวฤกษ์ที่ระเบิดเหล่านี้ สามารถส่งผลให้ดาวนิวตรอนมีขนาดเล็กลงมาก ทั้งยังประกอบด้วยสสารที่หนาแน่นที่สุดในจักรวาลหรือเรียกว่า “หลุมดำ”ในปี ๒๕๓๐ มีดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง ๒๐ เท่า อยู่ห่างโลก ๑๖๐,๐๐๐ ปีแสง เกิดการระเบิดในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ ที่เป็นกาแล็กซีบริวารของทางช้างเผือก การระเบิดครั้งนั้นรุนแรงมาก เป็นซุปเปอร์โนวาที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากซีกโลกใต้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซุปเปอร์โนวานี้มีชื่อว่า ๑๙๘๗A ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหาวัตถุที่มีขนาดกะทัดรัดอย่างดาวนิวตรอนในซุปเปอร์โนวา ๑๙๘๗A มานานกว่า ๓ ทศวรรษ ล่าสุดนักวิจัย นำโดยนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ในสวีเดน ระบุว่าในที่สุดได้พบหลักฐานที่หายไปของดาวนิวตรอน จากการอาศัยฝีมือของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ เครื่องมือขององค์การนาซา สหรัฐ อเมริกา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศแคนาดา เครื่องมือ ๒ ชิ้นบนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ สังเกตการณ์ซุปเปอร์โนวาแห่งนี้ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรด และพบหลักฐานทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับธาตุอาร์กอนและอะตอมของกำมะถัน บ่งชี้ว่าดาวนิวตรอนแรกเกิดถูกปกคลุมอยู่ด้านหลังเศษที่เหลือจากการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมากนั่นเอง.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
พบหลักฐานดาวนิวตรอน ในซุปเปอร์โนวา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง