วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

พม.เจ๋ง เปิดสอนหลักสูตร "สูงวัยรู้ทันสื่อ" กันตกเป็นเหยื่อ แก๊งคอลเซ็นเตอร์

พม.เจ๋ง เปิดสอนหลักสูตร “สูงวัยรู้ทันสื่อ” ๔ ข้อ “หยุด คิด ถาม ทำ” สร้างเกราะ กันตกเป็นเหยื่อ สแกมเมอร์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว-หลอกให้ซื้อของไม่ได้คุณภาพเมื่อวันที่ ๘ ม.ค. ๖๗ ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวเปิดหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” รูปแบบออนไซต์และออนไลน์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชนในสังคม เพื่อการสื่อสารอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ป้องกันการตกเป็น “เหยื่อ” ของผู้ไม่หวังดีในกระบวนการสื่อสาร โดยนำมาใช้เป็นหลักสูตรแกนกลางของโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน ๒,๔๕๖ แห่งทั่วประเทศโดยมี น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษา “กลุ่มคนตัว D” บริษัท ทำมาปัน จำกัด และนางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเปิดงานนายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ และจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี ๒๕๖๖ พบว่า ผู้สูงอายุไทยมีจำนวน ๑๓ ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ นับว่า เป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ และจากข้อมูลผลการสำรวจสถานการณ์ และผลกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย ปี ๒๕๖๖ โดยการเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุทั่วประเทศ จำนวน ๒,๐๐๐ คน ของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (Intelligence Center for Elderly Media Literacy – ICEML) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี ๒๕๖๖ มีจำนวนผู้สูงอายุไทยที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงผ่านสื่อมากถึง ๒๒.๔๐% โดยตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ มีจำนวนมากถึงร้อยละ ๗๐ ในขณะที่ผู้สูงอายุยังคงถูกหลอกลวงให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๑๔ และจากข้อมูลมติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี ๒๕๖๖ ยังพบอีกว่าความสามารถในการใช้งานสื่อเทคโนโลยีและการรู้เท่าทันภัยจากเทคโนโลยีดิจิทัลของผู้สูงอายุอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงและเป็นเป้าหมายต่อการถูกหลอกลวงจากโลกออนไลน์ได้ง่าย ทั้งจากเรื่องโรมานซ์สแกม (Romance Scam) และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ซึ่งเป็นการถูกหลอกลวงที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนนายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ๓ หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มคนตัว D บริษัท ทำมาปัน จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” เพื่อนำมาใช้เป็นหลักสูตรแกนกลางของโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน ๒,๔๕๖ แห่งทั่วประเทศ ผ่านหลักการสำคัญ ๔ ข้อ ได้แก่ ๑) การรู้จักและเข้าถึงสื่อ ผู้รับสารสามารถเลือกใช้สื่อได้ตามที่ต้องการ ๒) การวิเคราะห์ทำความเข้าใจสื่อ ผู้รับสารสามารถทำความเข้าใจ หรือตีความข้อมูลที่สื่อส่งมาได้ ๓) การประเมินผลกระทบจากสื่อ ผู้รับสารสามารถประเมินผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบได้ และ ๔) การใช้สื่ออย่างปลอดภัย ผู้รับสารสามารถใช้ข้อมูลนั้นต่อไปอย่างปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทดลองหลักสูตร โดยจัดอบรมวิพากษ์หลักสูตรในพื้นที่โรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน ๓ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ ณ โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลพลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ครั้งที่ ๒ ณ โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และครั้งที่ ๓ ณ โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรีนายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. โดย ผส. และภาคีเครือข่ายทั้ง ๓ หน่วยงาน ได้ผลิตเล่มหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ (E – book) รวมทั้งการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ มีแผนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสูงวัยรู้ทันสื่อ ๔ ภูมิภาค ประกอบด้วย ๑. ภาคกลาง ณ จังหวัดสุพรรณบุรี ๒. ภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงราย ๓. ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา และ ๔. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดร้อยเอ็ดนายวราวุธ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว วันนี้เกิดมิจฉาชีพมากมายที่เริ่มเข้ามาหาผลประโยชน์จากผู้สูงอายุ แม้จะเป็นผู้มากประสบการณ์ แต่ด้วยเล่ห์เหลี่ยมและเล่ห์กลทั้งหลายที่มาในรูปแบบของออนไลน์ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ถึงแม้ว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ผู้สูงอายุได้ใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีใหม่ๆ และโซเชียลมีเดีย แต่เปรียบเหมือนดาบสองคม ที่นำเอามิจฉาชีพมาถึงประตูบ้าน ทำให้เงินจำนวนมากต้องสูญเสียไปไม่ว่าจะเป็น เงินออม เงินบำนาญ ดังนั้น วันนี้ หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดล สสส. และกลุ่มคนตัวดี เพราะว่าการที่ร่วมมือกันทำงานทำให้พี่น้องประชาชนในส่วนของผู้สูงอายุจะมีองค์ความรู้ มีเกราะป้องกัน ไม่เสียรู้ให้กับกลุ่มมิจฉาชีพต่อไป และหวังว่าโครงการที่ดีเช่นนี้ จะได้รับการต่อยอดและขยายผลไปยังผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ และในอนาคตจากนี้ไป ผู้สูงอายุในประเทศประเทศไทยจะไม่หลงกลให้กับกลุ่มมิจฉาชีพที่หากินกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้าหากได้รับข้อความ SMS หรือทางแอปพลิเคชัน LINE หรือ WhatsApp อย่าเพิ่งเชื่อ และขอให้ลบทิ้งไปจะปลอดภัยที่สุดนายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรนี้ จะมีทั้งที่เป็นรูปเล่มหนังสือให้อ่าน และ E – book อีกทั้งจะมีวิทยากร ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำความเข้าใจกับหลักสูตรที่ว่า “หยุด คิด ถาม ทำ” หากว่าได้มีการพูดคุยและฟังจากประสบการณ์จริง ตนเชื่อว่าจะสอนผู้ที่เข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และจำแม่นขึ้น ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทางออนไลน์ โดยจะมีทั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล สสส. และกลุ่มคนตัวดี รวมทั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ จะมีการส่งข้อมูลไปยังโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศอีกด้วย