วันศุกร์, 8 พฤศจิกายน 2567

“พิธา”-ก้าวไกล ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด แก้ ม.๑๑๒ ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย นโยบายหาเสียงแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งให้ พิธา-ก้าวไกล ห้ามพูด-เขียน-พิมพ์ และไม่ให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าวในอนาคตด้วย วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗  ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น (ผู้ถูกร้องที่ ๑) และ พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ ๒) มีนโยบายเสนอแก้มาตรา ๑๑๒ เป็นการกระทำที่เข้าข่าย ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ภายหลังเมื่อช่วงเวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ผ่านมาองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติเป็นที่เรียบร้อยแล้วผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด เมื่อเวลา ๑๔.๑๓ น. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ และให้ผู้ถูกร้องชี้แจ้ง พร้อมขอเลื่อน ๒ ครั้ง โดยศาลได้รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนแล้วพบว่า แม้การเสนอร่างแก้ไขมาตรา ๑๑๒ จะเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการบรรจุในสภาก็ตาม แต่ร่างกฎหมายนี้ กลับดำเนินการโดยผู้ถูกร้องทั้ง ๒ ทั้งสิ้น โดยผู้ถูกร้องทั้ง ๒ ได้ร้องต่อศาลว่า ได้เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๖ แล้ว แต่ปัจจุบันเนื้อหาดังกล่าวยังมีการปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล และเสนอเป็นนโยบาย ดังนั้น ถือได้ว่า พรรคก้าวไกล และนายพิธา เสนอแก้ไขมาตรา ๑๑๒  เป็นพฤติการณ์ที่แสดงออก เพื่อต้องการลดทอนอำนาจพระมหากษัตริย์ลงโดยอาศัยอำนาจทางนิติบัญญัติ ผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียง ผ่านรูปแบบของพรรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนอาจหลงไปตามความคิดเห็นได้ อีกทั้ง การที่นายพิธา และพรรคก้าวไกล ใช้เป็นนโยบายหาเสียงต่อเนื่อง เป็นการนำสถาบันลงมาเพื่อหวังผลทางคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ทำให้สถาบันเข้าไปเป็นฝักฝ่ายในการรณรงค์ทางการเมือง อันไม่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีเจตนาเซาะกร่อนพระมหากษัตริย์ ให้อ่อนแอลง ดังนั้น ข้อโต้แย้งของทั้ง ๒ จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งที่นายพิธา และพรรคก้าวไกล แย้งว่าเป็นการกระทำให้ฐานะสภาผู้แทนราษฎร ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองนั้น พบว่าที่ผ่านมาการดำเนินการกลับอยู่ในฐานะพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น อีกทั้งผู้ถูกร้องทั้ง ๒ ได้รณรงค์ปลุกเร้ากับกลุ่มการเมืองต่างๆ และพบว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ยืนหยุดขัง” และยังพบว่ามีสมาชิกในพรรคก้าวไกลทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้เคยจัดชุมนุมยกเลิกมาตรา ๑๑๒ โดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว และยังมีพฤติการณ์เป็นนายประกัน รวมถึงยังพบว่ายังมี สส.ในพรรค มีคดีในมาตรา ๑๑๒ อีกหลายคน ผู้ถูกร้องทั้ง ๒ จึงไม่อาจโต้แย้งได้ว่าเป็นการเห็นต่าง หรือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง เพราะพฤติการณ์ที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาตาม มาตรา ๑๑๒  ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้อง ต้องการเปลี่ยนแปลง แก้ไข และยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกในการจัดกิจกรรม “คุณคิดว่ามาตรา ๑๒๒ ควรยกเลิกหรือแก้ไข” นายพิธา ยังติดสติกเกอร์ยกเลิก และยังปราศรัยว่า “ประชาชนเสนอยกเลิกมาตรา ๑๑๒ เข้ามา พรรคก้าวไกลจะเสนอให้มีการแก้ไขในสภาก่อน หากยังไม่มีการแก้ไข จะไปสู้ด้วยกันกับน้องๆ” แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่จะยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวางบรรทัดฐานว่า พระมหากษัตริย์ ทรงอยู่เหนือการเมืองและดำรงความเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใดที่ถือเป็นการเซาะกร่อน ทำลายถือเป็นการล้มล้างการปกครอง อีกทั้งการแสดงสิทธิเสรีภาพต้องไม่ละเมิดบุคคลอื่นด้วย ต้องไม่กระทบต่อชาติ ความสงบเรียบร้อย และบุคคลอื่น แต่ผู้ถูกร้องทั้ง ๒ มีการแสดงออกซ่อนเร้น โดยใช้ มาตรา๑๑๒  และมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทำเป็นกระบวนการ ทั้งการชุมนุม การยื่นต่อสภา และใช้เป็นนโยบายการหาเสียง จึงไม่ไกลเกินเหตุที่จะล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา ๔๙ วรรค ๑ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการแสดงสิทธิดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครอง และสั่งให้ทั้ง ๒ เลิก การพูด การเขียน การพิมพ์ และไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ในอนาคตด้วย ในช่วงท้าย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่า การวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๓๘ วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษทั้งตักเตือน จำคุก หรือปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท”