วันศุกร์, 8 พฤศจิกายน 2567

“พิธา” ชี้ จุดอ่อนรัฐบาลเศรษฐา เน้นแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่สนแก้โครงสร้างระยะยาว

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” บรรยายหอการค้าพิษณุโลก มองจุดอ่อนรัฐบาลเศรษฐา ไม่แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นแก้ปัญหาระยะสั้น หวังลดดอกเบี้ยอย่างเดียว ไม่ถก ธปท.จริงจัง เพื่อแก้โครงสร้างระยะยาว แนะสนใจตัวชี้วัดอื่นประกอบด้วย ทั้งการจัดเก็บภาษีสินค้าจากต่างประเทศให้เสมอภาคเป็นธรรมกับแม่ค้าในประเทศวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ในอีก ๕ ปีข้างหน้า” ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก (YEC) ที่โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลกนายพิธาเริ่มบรรยายโดยการกางกราฟข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีคาดการณ์การเจริญเติบโตเศรษฐกิจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ ๓.๖% และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ ๑๗,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เช่นกัน ดังนั้น เมื่อถามว่าตนอยากเห็นทิศทางเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร คงตอบได้ว่าอยากเห็นเศรษฐกิจที่ “คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก” แต่คำถามต่อมาคือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางเศรษฐกิจ และจะพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจให้ไปไกลได้มากกว่านี้อย่างไรบ้างเมื่อย้อนกลับไปดูประเทศที่เติบโตขึ้นมาส่วนใหญ่นั้นเริ่มต้นด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่ Low Tech – Low Touch เช่น อินเดีย จีน บราซิล ซึ่งอาจจะเป็นไปได้เพราะมีการผลิตที่รวดเร็ว จำนวนมาก มีต้นทุนที่ถูก มีตลาดที่กว้างขวาง ทำให้สามารถทำสินค้าและบริการดังกล่าวได้ แต่ปัญหาคือประเทศไทยไม่สามารถสู้กับต่างชาติด้วยวิธีนี้ได้อีกแล้ว เราไม่สามารถและไม่ควรกดค่าแรงให้ถูกเท่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ทิศทางที่เป็นไปได้อย่างเดียวคือการเน้นอุตสาหกรรมสินค้าและบริการ High Tech – High Touch ที่มองว่าประเทศที่อยู่ระดับกลางๆ อย่างเช่นประเทศไทยจะต้องเดินเส้นทางนี้ แต่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าวิวาทะกันในหน้าสื่อเป็นเพียงแค่คำถามว่าวิกฤติหรือไม่ GDP จะโตเท่าไร จะคงหรือจะลดอัตราดอกเบี้ย นี่คือปัญหาการเมืองหรือปัญหาเศรษฐกิจกันแน่ ฯลฯ โดยมีการแสดงออกผ่านทวิตเตอร์และการให้ข่าวสื่อมวลชนกันไปมานายพิธากล่าวอีกว่า ตนมองว่าจุดอ่อนของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็คือการไม่แตะที่ต้นตอโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นปัญหา เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพ แต่รัฐกลับไม่ยอมใช้มาตรการทางการคลังที่ยังมีช่องว่างให้พอทำได้ และถือเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐบาลที่จะสามารถทำได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างจริงจังเพื่อแสวงหาความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันเกี่ยวกับทิศทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเชิงโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้กุมนโยบายการเงินและการคลังไม่ได้เห็นทิศทางตรงกันหรือเดินไปในทางเดียวกัน จึงกลายเป็นวิวาทะที่ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อเท่านั้น ยิ่งทำให้สังคมไม่มั่นใจในเศรษฐกิจไทย โดยความกังวลสองประเด็นหลักของนักลงทุนคือความไม่สอดคล้องกันของนโยบายการเงิน-การคลัง และความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อมา ถ้าเราสนใจตัวชี้วัดแค่ GDP ว่าจะต้องโตเท่าไร ดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเท่าไร แต่ไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดอื่นๆ ให้ไปสู่ “เศรษฐกิจที่ดี” ประเทศไทยก็จะไม่สามารถไปไกลกว่านี้ได้อีกแล้ว เราควรตั้งคำถามให้ไกลและลึกมากกว่านั้นโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ โครงสร้างต้นทุนพลังงานเป็นธรรมหรือไม่ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประชาชนดำเนินการธุรกิจได้ง่ายจะต้องแก้อะไรบ้าง การกระจายรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะไปไกลมากกว่าการกระจุกแค่ ๕ จังหวัดท่องเที่ยวได้หรือไม่และทำอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเก็บภาษีสินค้าจากต่างประเทศให้เสมอภาคเป็นธรรมกับแม่ค้าในประเทศ ไม่ให้เกิดเหตุ “แพลตฟอร์มโต แม่ค้าตาย” ฯลฯ นายพิธา ยังกล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างข้อเสนอ High Tech ของก้าวไกล คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สมมติว่าเราตั้งโจทย์การสร้างเศรษฐกิจใหม่จากปัญหาของคนพิษณุโลก เช่นกรณีน้ำประปาทั้งประเทศ ที่มีการสูญเสียในระบบกว่า ๕๒% และหลายแห่งมีระบบท่ออายุมากกว่า ๗๐ ปี นำมาสู่ข้อเสนอของก้าวไกลคือการสร้างระบบน้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ พร้อมระบบเซนเซอร์ สมาร์ตมิเตอร์ ออกบิลเก็บเงินผู้ใช้โดยอัตโนมัติ สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่น้ำประปาที่มีคุณภาพดี สะอาด ดื่มได้ แต่ยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีก เช่น การผลิตน้ำสะอาดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิป แผงวงจร เพื่อนำไปใช้ต่อในโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ฯลฯส่วนประเด็นเรื่อง High Touch ในเมื่อรัฐบาลผลักดัน Soft Power มีกางเกงประจำจังหวัดแล้ว นายพิธามองว่า Soft Power ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือเสรีภาพ ความหลากหลาย กฎหมายที่ไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ และหากสังเกตจากดัชนีตัวเลขประเทศที่มีความแข็งแกร่งทาง Soft Power มากที่สุดในโลก ก็พบว่าส่วนใหญ่มาจากการเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยคือสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สุดท้าย นายพิธาเล่าถึงแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม โดยพรรคก้าวไกลเสนอ “๓F” ได้แก่ Firm Ground วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง, Fair Game สร้างกติกาและกลไกภาครัฐเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม, และ Fast Growth เสริมเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่