วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ภาพอุดมกาแล็กซีทรงกังหันจากกล้องฮับเบิล

ภาพน่าทึ่งส่งท้ายปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ต้องมีภาพมวลหมู่กาแล็กซีทรงกังหันหรือชนิดก้นหอยที่เป็นผลงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา และองค์การอวกาศยุโรปรวมอยู่ด้วย ในภาพดังกล่าวจะเห็นกาแล็กซีทรงกังหันขนาดใหญ่โดดเด่น NGC ๑๓๕๖ ตั้งทางด้านขวาของภาพ ขณะที่กาแล็กซีทรงกังหันเล็กๆอีก ๒ แห่งที่ขนาบข้างและเห็นได้ชัดกว่าคือ LEDA ๔๖๗๖๙๙ อยู่ด้านบน และ LEDA ๙๕๔๑๕ อยู่ใกล้มากๆทางด้านซ้าย ส่วนกาแล็กซีทรงกังหันแห่งสุดท้ายคือ IC ๑๙๔๗ อยู่ทางด้านซ้ายของภาพนักดาราศาสตร์เผยว่าภาพนี้น่าสนใจและท้าทายการศึกษาอย่างมาก มีความสงสัยว่ากาแล็กซีเหล่านี้อยู่ใกล้กันจริงๆหรือไม่ เพราะหากมองจากโลก ภาพนี้ดูเผินๆเหมือน NGC ๑๓๕๖, LEDA ๔๖๗๖๙๙ และ LEDA ๙๕๔๑๕ เป็นสหายที่จับกลุ่มกันใกล้ชิด ขณะที่ IC ๑๙๔๗ นั้นอยู่ห่างไกลมากกว่า แต่นักดาราศาสตร์ก็ให้ข้อคำนึงว่า ภาพ ๒ มิติเช่นนี้เป็นเพียงสิ่งบ่งชี้ถึงการแยกกันในเชิงมุมเท่านั้น เช่น ในขณะที่ NGC ๑๓๕๖ และ LEDA ๙๕๔๑๕ ดูเหมือนจะอยู่ใกล้กันมากจนคิดว่ามันจะมีปฏิสัมพันธ์กันแน่นอน ทว่า NGC ๑๓๕๖ อยู่ห่างจากโลกราว ๕๕๐ ล้านปีแสง LEDA ๙๕๔๑๕ อยู่ห่างจากโลกประมาณ ๘๔๐ ล้านปีแสง ดังนั้นจึงมีระยะห่างระหว่างพวกมันเกือบถึง ๓๐๐ ล้านปีแสง นั่นก็หมายความว่า LEDA ๙๕๔๑๕ ไม่น่าจะเล็กกว่า NGC ๑๓๕๖ มากนักในทางกลับกัน แม้ดูเหมือน NGC ๑๓๕๖ และ IC ๑๙๔๗ จะแยกจากกัน แต่ IC ๑๙๔๗ อยู่ห่างโลกประมาณ ๕๐๐ ล้านปีแสงเท่านั้น ระยะห่างเชิงมุมที่ปรากฏระหว่างพวกมันในภาพนี้ คำนวณได้ไม่เกิน ๔ แสนปีแสง ฉะนั้น พวกมันจึงอยู่ใกล้กันมากกว่า NGC ๑๓๕๖ และ LEDA ๙๕๔๑๕.Credit : ESA/Hubble & NASA, J. Dalcanton, Dark Energy Survey/DOE/FNAL/NOIRLab/NSF/AURA; CC BY ๔.๐ Acknowledgement: L. Shatzอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่