วันอังคาร, 5 พฤศจิกายน 2567

ลดดอกเบี้ย ช่วยลดรายจ่าย นายกฯ ย้ำ ตระหนักดีถึงความเดือดร้อน ขอทำเต็มที่

“เศรษฐา” ย้ำ ลดดอกเบี้ย เป็นส่วนหนึ่งของการลดรายจ่าย ยืนยัน รัฐบาลจะช่วยดูแลเต็มที่ เพราะตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๗ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรีและตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ก่อนเดินทางไปตรวจราชการ จ.เชียงใหม่ ว่า ตามที่ทุกคนได้รับทราบในการแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้บุคลากรของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ ที่ทางผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ได้พูดถึงเรื่องลดเบี้ย ถ้าลดดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งเป็นการลดรายจ่าย  นายเศรษฐา ระบุต่อไป อย่างที่เคยกล่าว ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ลดดอกเบี้ย แต่หน่วยงานภาครัฐมีจิตใต้สำนึกที่ดี ที่มีการลดดอกเบี้ย ตนเองก็ขอขอบคุณ เพราะการทำงานเช่นนี้ต้องทำด้วยใจ อีกทั้งเชื่อว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพ เจ้าหน้าที่ระดับสูง เห็นความลำบากของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระหนี้สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างที่แถลงในที่ประชุม ถือเป็นสารตั้งต้นของความหายนะของประเทศ ถึงอย่างนั้นก็ต้องดำเนินการช่วยกันไปก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เราตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตรงส่วนนี้ ยืนยันว่าจะช่วยดูแลให้อย่างเต็มที่เท่าที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ได้มีการบอกในที่ประชุมว่า ถ้าเกิดสามารถช่วยกันได้เพิ่มขึ้นอีก สามารถที่จะขยายวงเงินได้อีก ถ้าสามารถทำได้ ก็ให้แจ้งบอกอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ด้วยว่า ควรให้เร่งเอาสหกรณ์เข้ามาอยู่ในโปรแกรมโดยเร็ว ยังมีอีกหลายเรื่องหลายอย่างที่สามารถทำให้ได้อีก ขณะช่วงที่เราเริ่มทำกันมาในระยะเวลา ๒ เดือน ก็ได้ผลเป็นส่วนหนึ่งแล้ว ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ก็มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ได้มีการลงไปพูดคุยกับหลายหน่วยงาน และพยายามทำให้ทุกคนทะเยอทะยานมากขึ้นอีกในการที่จะช่วยเหลือ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ดูได้จากแววตาของผู้บริหาร ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าใจและเห็นใจถึงความลำบากของพี่น้องประชาชนทั้งนี้ ในการประชุมนายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำด้วยว่า “ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายจะประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่ดีให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาที่ยากเย็นนี้ การแก้ไขหนี้ เป็นกระบวนการที่ต้องการความใส่ใจ ความร่วมมือ และความต่อเนื่อง ผมขอให้กำลังใจ และจะขอรับการรายงานความก้าวหน้าและความสำเร็จอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ผมจะเร่งหารือกับท่านผู้เกี่ยวข้องว่าควรประสานขอความร่วมมือใด จากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ เพื่อให้ภารกิจการแก้ไขหนี้มีความสำเร็จ และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไป”