วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ศาลอุทธรณ์ ยกคำร้อง “อานนท์” ขอประกันตัว ครั้งที่ ๕ ชี้ พฤติการณ์ร้ายแรง

“ทนายอานนท์” ชวดประกันตัวครั้งที่ ๕ ในคดี ม.๑๑๒ หลังศาลอุทธรณ์ ยกคำร้อง ชี้ พฤติการณ์ร้ายแรง การกระทำกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจะหลบหนีวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว นายอานนท์ นำภา หรือ ทนายอานนท์ นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน ในระหว่างอุทธรณ์ ในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จำนวน ๒ คดี กรณีการปราศรัยในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ และกรณีโพสต์ ๓ ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยยื่นประกันตัวไปเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นับเป็นครั้งที่ ๕ หลังถูกคุมขังในรอบนี้ทั้งนี้ ในคำสั่งระบุว่า การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ๔ ปี และนับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี สำหรับทั้ง ๒ คดีนี้ นายอานนท์ ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมา และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงวันนี้ (๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗) เป็นเวลา ๑๔๗ วันแล้วขณะเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้สรุปคำร้องในการยื่นครั้งนี้ จำเลยยืนยันว่าได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้ง ๒ คดี และจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด อีกทั้งศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะไปก่อเหตุภยันอันตรายประการอื่นหรือหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ก็เคยให้จำเลยเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights) ในระหว่างวันที่ ๑๒-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังประเทศไทยตามกำหนด ก็ได้มารายงานตัวต่อศาล ไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด “กรณีนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงยืนยันและรับรองพฤติกรรมได้ว่า อานนท์ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี คดีนี้ยังไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของจำเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๘/๑ ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยแม้แต่น้อย”อีกทั้งในคำร้องยังระบุถึงคดีอื่นๆ ที่จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ได้แก่ คดี น.ส.รักชนก ศรีนอก ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก ๖ ปี และเป็นฐานความผิดเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ ศาลอาญาก็ยังอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ จึงควรมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดียวกับคดีนี้ด้วย นอกจากนี้ คำร้องขอประกันตัวยังระบุขอให้ศาลใช้ดุลพินิจโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจำเลย สำหรับในทั้ง ๒ คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่ในส่วนสุดท้าย คำร้องยังระบุถึงการที่ นายอานนท์ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังตัวไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจาก นายอานนท์ ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนรวมกว่า ๓๘ คดีในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้จำเลยและลูกความในแต่ละคดีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดเตรียมพยานหลักฐาน วางแผนแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับลูกความ ตลอดจนการทำงานเอกสารและเดินทางไปศาลในนัดต่างๆ การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคดีที่จำเลยเป็นทนายความอยู่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความของจำเลย นอกจากนี้ นายอานนท์ ยังมีบุตรผู้เยาว์วัยจำนวน ๒ คน ที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู คือบุตรสาว อายุ ๗ ปี และบุตรชายซึ่งเป็นทารก อายุเพียง ๑ ปีเศษ และมีบิดามารดาซึ่งอยู่ในวัยชราที่จำเลยต้องส่งเสียเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม หลังรับคำร้อง ศาลอาญาได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย กระทั่งเมื่อเวลา ๑๓.๔๖ น. ของวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว นายอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า “การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ๔ ปี และนับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง”