วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

สพฐ.ชี้วิเคราะห์คำตอบเด็กได้หลายมุม หนุนครูรวมกลุ่มช่วยแก้ปัญหานักเรียน

06 มี.ค. 2024
49

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ กรณีครูผู้สอนรายหนึ่งออกมาสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวในมุมของครูผู้สอนว่ามีเด็กนักเรียนที่ไม่ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ไม่รับผิดชอบ ไม่ตั้งใจทำงานส่งครู โดยอ้างว่าอย่างไรก็ผ่านอยู่แล้ว ซึ่งครูรายนี้ได้ออกมาสนับสนุนให้โรงเรียนประกาศนโยบายเรียนซ้ำชั้นนั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ได้รับทราบและมอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้น พบว่าครูรายดังกล่าวได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจริง ซึ่งทาง สพฐ.มองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่สามารถกระทำได้ แต่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากกรณีตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น พฤติกรรมการตอบใบงานของเด็ก อาจวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง เช่น ความรับผิดชอบของนักเรียน หรือไม่ชอบวิชานี้ ส่วนวิชาอื่นเด็กแสดงออกเหมือนกันหรือไม่ หรือขาดวินัย หรือนักเรียนกำลังมีปัญหา ทั้งปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัวที่ต้องมุ่งความสนใจไปที่เรื่องอื่น แต่อยากส่งงานให้เสร็จแบบรีบร้อน หรือติดเกม หรือปัญหาที่โรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนโดยตรง ทำให้ขาดแรงจูงใจ ขาดสมาธิในการเรียนรู้ เป็นต้นโฆษก สพฐ.กล่าวอีกว่า ดังนั้น เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนควรให้คำแนะนำกับครูผู้สอน ทำ PLC ร่วมหาทางแก้พฤติกรรมดังกล่าว โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย หรือคุยกับครูคนอื่นว่ามีปัญหาเดียวกันหรือไม่ ไม่ควรปล่อยให้ครูแก้พฤติกรรมนักเรียนเพียงคนเดียว และควรวางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบทแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจใช้การสอบปากเปล่า ผ่านโปรแกรมซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่นได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญซึ่งมีหลากหลายวิธี“ส่วนประเด็นที่ครูต้องการให้โรงเรียนประกาศนโยบายเรียนซ้ำชั้นนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นอำนาจของสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาอาจพิจารณาให้นักเรียนซ้ำชั้นได้ หากพบปัญหาที่เกิดกับนักเรียนในกรณีไม่ผ่านรายวิชาจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือไม่บรรลุผลการเรียนรู้ใดๆ” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่