วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

สภาผู้แทนราษฎรชำแหละงบประมาณ ๒๕๖๗

วันนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ วงเงิน ๓.๔๘ ล้านล้านบาท การจัดทำร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าวล่าช้ามาหลายเดือน จากปัญหาการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และยังต้องมาปรับเกลี่ยใหม่ให้เข้ากับนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ตามไทม์ไลน์กว่าจะได้ใช้งบฯ ๖๗ ก็น่าจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ค. เสียโอกาสในการใช้งบลงทุนไปหลายเดือนร่างงบฯ ปี ๒๕๖๗ วงเงิน ๓.๔๘ ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ๑.รายจ่ายประจำ ๒.๕๓ ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๗๒.๗ ของวงเงินงบประมาณ ๒.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ๑๑๘,๓๖๑ ล้านบาท ๓.รายจ่ายลงทุน ๗๑๗,๗๒๒ ล้านบาท ๔.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ๑๑๘,๓๒๐ ล้านบาทหากจำแนกตามรายกระทรวง ๕ กระทรวงแรกที่ได้งบมากสุดคือ กระทรวงมหาดไทย ๓๕๓,๑๒๗ ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ ๓๒๘,๓๘๔ ล้านบาท กระทรวงการคลัง ๓๒๗,๑๕๕ ล้านบาท กระทรวงกลาโหม ๑๙๘,๓๒๐ ล้านบาท กระทรวงคมนาคม ๑๘๓,๖๓๕ ล้านบาท ส่วนรายจ่ายงบกลางอยู่ที่ ๖๐๖,๗๖๕ ล้านบาทในเอกสารงบประมาณระบุ ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี ๒๕๖๗ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ ๒.๗–๓.๗ มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการกลับมาขยายตัวของการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเงินการคลังและภาคเศรษฐกิจจริงมาติดตามดูกันว่าวันนี้รัฐบาลจะชี้แจงอธิบายการจัดทำงบประมาณอย่างไร สอดคล้องกับนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่ และฝ่ายค้านจะชำแหละตรวจสอบการจัดทำงบฯอย่างไรบ้าง มีข้อเสนอแนะอะไรที่เป็นประโยชน์พรรคก้าวไกลโหมโรงตั้งหัวข้อการจัดงบฯครั้งนี้ว่า “วิกฤติแบบใด ทำไมจึงจัดงบประมาณแบบนี้” พร้อมตั้งข้อสังเกต รัฐบาลจัดสรรงบฯให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลง โดยในงบฯปี ๖๖ สัดส่วนอยู่ที่ ๒๙.๘% แต่งบฯปี ๖๗ สัดส่วนกลับลดเหลือ ๒๙.๑% รวมถึงงบฯกระทรวงกลาโหมที่ได้เพิ่มขึ้น ๒% ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงจะตัดงบฯ กลาโหมลง ๑๐%คุณศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้พยายามจัดงบประมาณเพื่อตอบโจทย์วิกฤติต่างๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยอ้างถึง ๓ วิกฤติคือ วิกฤติเศรษฐกิจปากท้อง วิกฤติรัฐธรรมนูญ วิกฤติความขัดแย้ง ในขณะที่สังคมเห็นตรงกันว่ายังมีวิกฤติอื่นอีกเช่น วิกฤติด้านการศึกษา วิกฤติด้านทรัพยากรมนุษย์ วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่เห็นการจัดงบประมาณในการแก้ไขวิกฤติดังกล่าวเลยคุณศิริกัญญากล่าวว่า งบประมาณหลายอย่างหายไปเช่น วิกฤติเศรษฐกิจที่หลายคนต้องการเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับไม่เห็นแนวทางที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจเลย ต้องไปรอลุ้นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในวันที่ออก พระราชบัญญัติกู้เงิน ส่วนงบฯทำประชามติก็ตั้งไว้เพียงกึ่งหนึ่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าไทม์ไลน์แท้จริงจะออกมาอย่างไร แล้วงบฯ ที่จัดไว้จะเพียงพอหรือไม่คุณศิริกัญญากล่าวด้วยว่า หลายคนคาดหวังในรอบ ๙ ปีที่มีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล งบประมาณจะถูกจัดสรรแบบใหม่ๆ เพื่อสามารถขับเคลื่อนนโยบายที่สัญญากับประชาชน แต่ขึ้นปีที่ ๑๐ เรายังคงเจอการทำงานแบบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็เป็นการฉายหนังตัวอย่างของพรรคก้าวไกลที่ทำการบ้านมาอย่างดีภายใต้เวลาที่มีจำกัด ผมหวังว่าฝ่ายค้านเบอร์ ๒ อย่างพรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ พิสูจน์ฝีมือเพื่อกู้ศรัทธากลับคืนมา แต่ถ้าขืนอภิปรายแบบขี่ม้าเลียบค่าย รอจังหวะเข้าร่วมรัฐบาล ระวังจะถูกโห่เอาได้.ลมกรดคลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม