“สมศักดิ์” เป็นตัวแทน คณะรัฐมนตรีเสนอร่าง พระราชบัญญัติปราบหนุนก่อการร้ายเข้าสภาวาระแรก แก้ไขเพิ่มเติมจากกฎหมายเก่า ๖ ประเด็น เสริมประสิทธิภาพ ปปง.ขจัดอุปสรรคการทำหน้าที่ พร้อมยกระดับให้สอดคล้องมาตรฐานสากลเมื่อเวลา ๑๓.๔๐ น. วันที่ ๑๓ มี.ค. ๖๗ ที่รัฐภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ ๒ เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า หลักการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. ๒๕๕๙ คือ ๑.กำหนดการห้ามช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนดและบทกำหนดโทษ ๒.กำหนดผู้มีหน้าที่รายงานที่ไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยง ๓.แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ ๔.แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ๕.แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและความผิดที่เปรียบเทียบได้ ๖.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงนายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุผล พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ ๒๕๕๙ กำหนดองค์ประกอบความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ครอบคลุมถึงการทำธุรกรรมเล็กน้อย หรือการดำเนินกิจกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นปกติทางการค้าหรือมีเหตุอันสมควรและมีโทษทางอาญา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ และบทกำหนดโทษบางประการยังไม่เหมาะสมกับการกระทำความผิด นอกจากนี้ หน้าที่และอำนาจของสำนักงาน ปปง.ในการรวบรวมหลักฐาน และการดำเนินคดียังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้