หลายคนอาจแปลกใจ หนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวข่าวว่า “สส.กินกล้วย” แค่กิน ๒ กล้วยก็เป็นข่าวด้วยหรือ เพราะใครก็กินกล้วยกันทั้งบ้านทั้งเมืองแต่กลายเป็นข่าว ไม่ใช่ข่าวธรรมดา แต่เป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่ง เป็นผลการลงมติร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ที่มี สส.พรรคไทยสร้างไทย ๓ คน ลงมติสนับสนุนรัฐบาลน่าเห็นใจเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ไม่คุ้นชินกับการเมืองแบบเก่าๆ จึงประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และชี้แจงว่าก่อนการลงมติ มีการประชุม สส.พรรคถึง ๓ ครั้งให้ออกเสียงตามมติพรรค และมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน น่าสงสัยรายการนี้มีการ “กินกล้วย” หรือไม่คำว่า “กินกล้วย” เป็นศัพท์สแลงทางการเมือง ที่เกิดจากคำบอกเล่าของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าในขณะที่เป็นแกนนำอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ สส.พรรคเล็กพรรคน้อยชอบงอแง ขอโน่นขอนี่ไม่หยุดหย่อน จึงแก้ปัญหาแบบเดียวกับการแจกกล้วยให้ลิงกินจนอิ่มหมีพีมัน จนเหล่าวานรต้องเงียบเสียงไปสส.ที่ออกเสียงสวนมติพรรคชี้แจงว่า เป็นการออกเสียงตามความเห็นของประชาชน หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” รายงานว่าทั้งสามคนเป็น สส.รุ่นใหม่ แต่มักต่อรองเพื่อผลประโยชน์ เพราะมีเครือข่ายธุรกิจรับเหมา เท็จจริงอย่างไร ต้องพิสูจน์กันต่อไป และตามดูต่อไปว่าพรรค ทสท.จะจัดการปัญหานี้อย่างไรก่อนการเลือกตั้ง ๒๕๖๖ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจความเห็นคนไทยเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันของพรรคการเมือง คนส่วนใหญ่ระบุว่าการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญอันดับที่หนึ่งของประเทศ เลขาธิการองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันเปิดเผยว่า เรามีกฎหมายต่อต้านโกง ๑๕ ฉบับ มีองค์กรปราบโกง ๖ องค์กรแต่ ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีการทุจริตโกงกินแพร่ระบาดแพร่หลายทุกหย่อมหญ้า บางคนระบุว่าไม่ใช่การโกงเล็กๆน้อยๆ แต่โกงเป็นพันล้านหมื่นล้าน แต่มีเรื่องที่น่ายินดีคือการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ จะไม่อดทนต่อการทุจริตโกงกินมากขึ้น หวังว่าพรรคการเมืองต่างๆจะมีความตื่นตัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันการฝืนมติพรรคเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เพราะจะทำให้พรรคอ่อนแอ ได้รัฐบาลที่อ่อนแอ แต่มติที่พรรคจะให้ สส.ปฏิบัติ จะต้องเป็นมติที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย “มติพรรค” ต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ “คำสั่ง” ของเจ้าของพรรคหรือผู้นำพรรค.คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง