วันอังคาร, 5 พฤศจิกายน 2567

ส่วย…พูดไปสองไพเบี้ย นิ่ง…เสียประโยชน์ชาติ

13 มี.ค. 2024
86

ถ้าไม่มีการคอร์รัปชัน “ประเทศ” จะมีการขับเคลื่อนสู่ความรุ่งเรือง คงเป็นสัจธรรมความจริงที่ “คนไทย” เห็นพ้องต้องกันย้อนไป ๕ ปีล่วงมาแล้ว ด็อกเตอร์มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ในหัวเรื่อง “ส่วย” พูดไปสองไพเบี้ย นิ่ง-เสียประโยชน์ชาติ น่าสนใจอย่างยิ่งทุกวันนี้…สถานบันเทิงผับ บาร์ใน “ภูเก็ต” ต้องจ่ายส่วยแห่งละ ๓๗,๓๐๐ บาทต่อเดือน ให้กับคนที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่างๆรวม ๒๕ หน่วย และหากสถานที่แห่งนั้นมีลูกจ้างเป็นคนต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายก็ต้องจ่ายรายหัวอีกหัวละ ๙,๑๐๐ บาท…เช่น ถ้ามี ๓ คนก็ต้องจ่าย ๒๗,๓๐๐ บาทประเมินว่า ทั่วเกาะภูเก็ตมีสถานบันเทิงราว ๑,๐๐๐ แห่ง เท่ากับมีส่วยรายเดือนรวมกันมากถึง ๓๗ ล้านบาท ไม่รวมส่วยแรงงานต่างด้าวกว่า ๒๗ ล้านบาทอีกต่างหากคำถามสำคัญมีว่า…ประเทศไทยไม่มีทางเอาชนะระบบส่วยได้จริงหรือ? ด็อกเตอร์มานะ บอกว่า ข้อมูลจากข้าราชการผู้ใหญ่ที่ผมนับถือกรุณาส่งมาให้นี้ชัดเจนมาก แต่นี่อาจเป็นเพียงการเปิดโปงบัญชีส่วยอีกครั้งที่ทุกคนพูดถึงและสาปแช่งแต่ทำอะไรไม่ได้ จนผู้คนมึนงงว่า “ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงทำผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งและเป็นขบวนการได้เช่นนี้”มองกลับไปทุกยุคสมัย เราได้เห็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจ และอธิบดีหลายกรม ประกาศว่า จะเล่นงานพวกรีดไถอย่างจริงจัง ลงโทษเด็ดขาดรุนแรง ส่วยต้องหมดไปตามด้วยคำพูดว่า…ใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอะไรให้แจ้งมาสิ่งนี้สะท้อนว่า “ส่วย” เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนรับรู้ว่า ต้องรีบเอาชนะให้ได้เพราะประชาชนไม่พอใจ แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจแต่ละคนไม่เคยทำก็คือ ออกมาบอกให้สังคมรู้ชัดๆว่า เขาลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างและต่อไปจะทำอะไร อย่างไร รวมทั้งถามความเห็นประชาชนบ้างว่า อยากให้พวกเขาทำอะไรและ…คนไทยพร้อมจะช่วยอะไรแน่นอนว่า  ผ่านมาถึงวันนี้หลายคนคงสงสัย? อะไรทำให้ “วงจรส่วย” คงอยู่ได้…ทราบกันดีว่า การทุจริตมี “วงจรยาว” คือนอกจากแต่ละคนต้องหาความร่ำรวยใส่ตนแล้วยังต้องส่งส่วยให้เจ้านายตามลำดับชั้น ใครจะมาเป็นใหญ่หรือรักษาตำแหน่งไว้ล้วนมีต้นทุนราคาแพงหรือต้องหาทางตอบแทนผู้ใหญ่ที่สนับสนุน มีหลายกรณีที่พวกเขาจำต้องแบ่งปันกับหน่วยงานอื่นด้วย ส่วน “คนจ่ายสินบน” ก็เอาง่าย ยอมจ่ายหรือเป็นฝ่ายเสนอเงินให้เขาเพราะตัวเองทำบางอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่ส่วนใหญ่แม้ไม่ผิดอะไรก็ยอมจ่ายเพื่อตัดปัญหา ไม่กล้าสู้ หรือเพราะกลัวเดือดร้อนถูกกลั่นแกล้ง สภาพนี้จะเรียกว่า ขูดรีดหรือการหาผลประโยชน์และการพึ่งพากันก็แล้วแต่มีงานวิชาการจำนวนมากระบุว่า สาเหตุที่ส่วยดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้เป็นเพราะเราขาดมาตรการตรวจจับข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ ไม่มีการปกป้องประชาชนและสื่อมวลชนที่ขุดคุ้ยขัดขวางพฤติกรรมชั่ว สังคมไม่เคารพความถูกต้อง วัฒนธรรมนับถือคนรวยคนมีอำนาจ…นักการเมืองไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหามัวแต่มุ่งหาประโยชน์และสร้างเครือข่ายของตน กลไกตรวจสอบและรักษาความยุติธรรมของรัฐร่วมฉ้อฉลเสียเอง ระบบเส้นสาย การซื้อขายตำแหน่ง ข้าราชการมีอำนาจและโอกาสใช้ดุลพินิจมากเกินไปโดยที่กฎหมายมีมากจนเฟ้อ…แม้หลายเรื่องจะล้าหลังหรือไร้ประโยชน์แล้วก็ยังบังคับใช้อยู่ เป็นต้น“ส่วย” เป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย” ที่ต้องแอบทำกันลับๆในประเทศทั่วโลก ไม่ใช่พฤติกรรมที่พบเห็นได้ง่ายๆในวิถีชีวิตอย่างที่เห็นในบ้านเราทุกวันนี้ แล้วเราก็ต้องทนอยู่กับมันไปเรื่อยๆ อย่างนี้รับไม่ได้จริงๆครับ“ส่วย” จึงเป็นอีกปัญหา “คอร์รัปชัน” ขั้นวิกฤติ ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองควรเสนอต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งว่า มีนโยบายในการปราบปรามอย่างไร ด็อกเตอร์มานะ นิมิตรมงคลย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกสองปี ด็อกเตอร์มานะ มีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อพบกับพ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจนักลงทุน นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ได้รับฟังข้อมูลสารพัดการโกง รีดไถ ข่มเหงรังแก การฉกฉวยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น แม้จะรู้ดีว่า พฤติกรรมชั่วร้ายแบบนี้มีทั่วประเทศ แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะทำกันมาก…โฉ่งฉ่างแบบไม่เกรงกลัวใคร“ส่วยร้านค้า ร้านอาหาร…มีคนมาเก็บส่วยรายเดือนจากร้านค้าร้านอาหาร โดยอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่จาก ๑๒ หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจท้องที่ ตำรวจท่องเที่ยว ตม. กองปราบ ตชด. สืบฯจังหวัด สืบฯกอง ๕ ตำรวจภาค ๘ หน่วยป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แรงงาน อบต.หรือเทศบาล และผู้ว่าฯ”เหตุที่ใช้ข่มขู่หรือจับกุมนั้นมีมากแต่ข้อหายอดฮิตคือ…การใช้แรงงานต่างด้าวที่น่าสนใจคือ “ส่วยนักธุรกิจและชาวต่างชาติ”…ที่ภูเก็ตนอกจากคนไทยแล้วยังมีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจจำนวนมากไม่แพ้กัน ทั้งในธุรกิจโรงแรม หมู่บ้านจัดสรร นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ บริการท่องเที่ยว ผับบาร์ ร้านอาหาร ศูนย์การค้า สอนดำน้ำ สอนภาษา หรือแม้แต่ให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์เหตุนี้จึงมีคนต่างชาติเข้ามาเป็นลูกจ้างทำงานในธุรกิจต่างๆอยู่เต็มเกาะมีทั้งถูกและผิดกฎหมาย…สำหรับธุรกิจโรงแรม ประเมินกันว่าทั่วประเทศมีโรงแรมเถื่อนอยู่ร้อยละ ๖๕ แต่ที่ภูเก็ตจะมีมากถึงร้อยละ ๘๕ (ผมเคยเขียนไว้เมื่อ ๓๐/๑๑/๕๙)โรงแรมจำนวนมากยังถือเอกสารสิทธิที่ดินที่มีปัญหา แย่งที่ทำกินชาวบ้าน หรือบุกรุกที่สาธารณะ มีโรงแรมเก่าแก่รายหนึ่งถึงขนาดเอาที่สัมปทานเหมืองแร่ของรัฐมาออกโฉนดได้มากถึง ๖๐๐ ไร่ และเป็นที่รู้กันว่าโรงแรมที่ก่อสร้างหลังปี ๒๕๕๔ เกือบทั้งหมดล้วนมีความสูงของอาคารที่ฝ่าฝืนประกาศผังเมืองฉบับใหม่แต่…ไม่ว่าจะ “เถื่อน” หรือ “ถูกกฎหมาย” ก็ยังมีการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมบำรุงท้องที่และภาษีต่างๆ มูลค่านับพันล้านบาทต่อปี ทั้งหมดนี้ทำกันมานานเจ้าหน้าที่ก็รู้เห็นแต่เลือกที่จะรับเงินใต้โต๊ะแล้วปิดหูปิดตากันมาตลอด เพียงแต่ว่า โรงแรมที่ผิดกฎหมายจะมีเรื่องให้ต้องจ่ายส่วยมากขึ้นเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่ได้ และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะบังคับให้โรงแรมเหล่านี้ต้องทำให้ถูกต้อง ก็มีข่าวเปิดการเจรจาเรียกเงินรายละประมาณ ๒ ล้านบาท เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีแล้ว?…มีนักธุรกิจต่างชาติพูดกับผมด้วยว่า “อยู่เมืองไทยจะทำถูกกฎหมายเป็นไปไม่ได้ เพราะคนไทยยังจ่ายแต่ฝรั่งต้องจ่ายมากกว่า” เวลาที่พวกเขาไปยื่นเอกสารจดทะเบียนทำธุรกิจ แม้เอกสารครบแต่เรื่องไม่เดินมันจะกองอยู่อย่างนั้นโดยไม่รู้ว่าเพราะอะไร ถามมากเจ้าหน้าที่ก็หงุดหงิด“ในที่สุดใครๆก็จ่าย พอจ่ายเงินแล้วเจ้าหน้าที่ก็บอกโอเค โอเค ยูไปทำงานไปเปิดร้านค้าได้ ไม่มีการพูดถึงเอกสาร ฝรั่งรำคาญก็ยอมตามนั้นแต่ผ่านไปวันดีคืนดีก็จะมีเจ้าหน้าที่มาจับเขาอีกเพราะไม่มีเอกสารไม่มีใบอนุญาต ต่างชาติจึงกลัวเมืองไทยเพราะอะไรก็ต้องจ่ายสินบน และถึงจ่ายแล้วเรื่องก็ไม่จบ…”ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นนี้คือ สิ่งที่ได้ในช่วงเวลานั้น ผ่านมาถึงปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป นโยบาย “ปราบคอร์รัปชัน”…จะเกิดขึ้นได้จริงๆหรือไม่.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม