วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

อัปเดตอาการ "น้องเดือน" ยังท้องอืดท้องเสีย ทีมสัตวแพทย์ดูแลใกล้ชิด

30 พ.ย. 2023
92

“น้องเดือน” ลูกช้างป่าทับลานหลงโขลง ยังมีอาการท้องอืด-ท้องเสีย ทีมสัตวแพทย์ยังติดตามอาการ-เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานข้อมูลลูกช้างป่า ชื่อ “เดือน” เพศผู้ วัยเด็ก พบเจอบริเวณท้องที่บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา “ลูกช้าง” มีความอยากกินนมปกติ อุจจาระเหลวในช่วงเช้ามืด และเริ่มมีอุจจาระเป็นเนื้อในช่วงเย็น จึงยังมีงดนมและให้น้ำเกลือแบบมีน้ำตาล ปัสสาวะปกติ กิจวัตรประจำวันในการดูแลลูกช้าง มีการพาเดินเล่นช้าๆ โดยยังอยู่บนอุปกรณ์ช่วยพยุงอยู่ตลอดเวลา โดยยกสองขาหลังที่เข้าเฝือกเหนือพื้นเล็กน้อย ขาหน้าไม่มีการดึงรั้งสามารถลงน้ำหนักได้เต็ม 2 ฝ่าเท้า ทำความสะอาดลดความชื้นของเฝือก การเปลี่ยนถุงหุ้มเฝือกเพื่อลดการปนเปื้อนสิ่งสกปรก เช็กระดับรอกให้เหมาะสมทุกครั้งในการยืน และสลับให้เปลพยุงเพื่อลดแผลกดทับบริเวณขาหนีบสัตวแพทย์ทำการให้ผงโปรไบโอติก ยาลดกรดในกระเพาะ และยาลดปวดลดอักเสบ พร้อมทั้งทำความสะอาดสะดือและแผลบริเวณขาหนีบ จากการกดทับ ทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetotherapy Vet) ระบบดูแลกระดูก ควบคู่กับการรักษาทางยา โดยจะทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตามโปรแกรมการรักษา โดยอุณหภูมิร่างกายต่ำบางช่วงและกลับมาเป็นปกติแล้วสำหรับอาการท้องเสีย ได้ปรับเป็นการกินน้ำข้าวหลังจากงดมื้ออาหารครบ 12 ชั่วโมง และยังคงให้กินน้ำข้าวและเนื้อข้าวต่อเนื่อง ให้ยาปฏิชีวนะและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดพบว่า ต่ำกว่าระดับปกติ จึงเสริมด้วยการให้น้ำเกลือและกลูโคส พบอาการท้องอืดลดน้อยลง นอกจากนี้ทีมพี่เลี้ยงได้ทาครีมบำรุงผิวหนัง เพื่อลดการแตกแห้งของผิวหนังทั้งนี้จะมี สพ.ญ.ชนัญญา กาญจนสาขา นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สอส.สบอ.1 (ปราจีนบุรี) หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน สพ.ญ.พรรณราย ว่องวัฒนกิจ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สอส. สบอ.7 (นครราชสีมา) น.สพ.ปุญญพัฒน์ สารแขวีระกุล สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จะประเมินอาการวันต่อวัน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และฐานปฏิบัติการป้องกันและรักษาป่า (วังมืด) ร่วมกันดูแลรักษาลูกช้างป่าอย่างใกล้ชิด