“ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์” นำเสนอเป็น “EP.๒” กับการเจาะเบื้องหลังโครงการอุโมงค์ผันนํ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ แก้ปัญหาภัยแล้งใน ๕ อำเภอ จ.กาญจนบุรี ซึ่งโครงการนี้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้สูงถึง ๑.๒ หมื่นล้านบาท มีแผนจะมีการขุดอุโมงค์ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ป่าอนุรักษ์ผืนเดียวกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ป่าสมบูรณ์ลุ่มน้ำชั้น ๑A เป็นระยะทางยาวถึง ๒๐.๕ กิโลเมตร ตัวอุโมงค์มีขนาด ๔.๒๐ เมตร ขุดเจาะลึกจากพื้นดินประมาณ ๕๐๐ เมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ปลายอุโมงค์อยู่ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากฝ่ายนักอนุรักษ์ นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มองว่าโครงการนี้อาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย” และจะส่งผลกระทบกับสัตว์ป่า พืชพรรณ และธรรมชาติ ทุกหน่วยงานลงพื้นที่เป็นโครงการสร้างอุโมงค์หมื่นล้านที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย”หลังกระแสคัดค้านจุดติด “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐ” ลงพื้นที่เกาะติดนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ ๑๓ ก.พ. ๒๕๖๗ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเจ้าภาพพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตัวแทนจากกรมชลประทาน ตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่ตามแผนการก่อสร้างอุโมงค์ ทั้งบริเวณปากอุโมงค์ที่ตั้งอยู่ริมเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และจุดปลายอุโมงค์ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เพื่อหารือเรื่องผลกระทบร่วมกัน ตามคำแนะนำจากที่ประชุม คชก. เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ ให้ สทนช. ร่วมศึกษาผลกระทบกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่เป็นแกนนำคัดค้านโครงการการลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อหาข้อมูลจึงเริ่มขึ้น!! ด็อกเตอร์ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการอุโมงค์ผันน้ำสลักพระทางโครงการงัดข้อมูลการศึกษาวิจัย ยืนยันการก่อสร้างอุโมงค์ จะไม่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติและสัตว์ป่า รวมทั้งมีแผนในการฟื้นฟูสภาพป่า และสัตว์ป่าอย่างรัดกุม แต่จะมีการระเบิดเพื่อเปิดทางขุดเจาะอุโมงค์ ๒ จุด คือที่บริเวณปากอุโมงค์ในเขตเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และปลายอุโมงค์ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู อ.บ่อพลอย เพื่อเปิดทางให้เครื่องขุดเจาะ TMB เข้าไปทำงานใต้พื้นดินดร.ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการอุโมงค์ผันน้ำสลักพระ ขยายความประเด็นนี้ว่า การก่อสร้างปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสำรวจแล้วพบว่าลักษณะภูมิประเทศ ชั้นหินในบริเวณดังกล่าวเป็นหินแกรนิตที่มีความแข็งแรง ส่วนการระเบิดอุโมงค์จะทำพร้อมกันทั้ง ๒ ด้าน และงดทำในเวลาที่สัตว์ออกหากิน อีกทั้งจุดปากและท้ายอุโมงค์ ก็อยู่นอกเขตป่าสมบูรณ์อีกด้วย พอได้ปากอุโมงค์กับท้ายอุโมงค์ จึงจะลงมือเจาะรูอุโมงค์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย หัวเจาะ TBM ที่ไร้แรงสั่นสะเทือน ลึกจากผืนดิน ๕๐๐ เมตร การขุดอุโมงค์ “ผมยืนยันการขุดเจาะจะไม่ซ้ำรอยการถล่มแบบอุโมงค์ที่แม่กวงอย่างแน่นอน เพราะเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปมาก ส่วนผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่หลายฝ่ายกังวลก็ขอให้เบาใจได้ เพราะแนวทำอุโมงค์อยู่ห่างไกลถิ่นอาศัยของสัตว์ ที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณทุ่งนามอญ ในป่าสลักพระ” ด็อกเตอร์ไชยทัศน์ กล่าว อุโมงค์ผันน้ำเป็นคำยืนยันที่ออกจากปากที่ปรึกษาโครงการแต่ดูเหมือนข้อมูลจากทางโครงการ จะสวนทางกับกลุ่มนักอนุรักษ์อย่างสิ้นเชิง นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง แมวลายหินอ่อน กระทิง วัวแดง ช้างป่า และพบว่าพื้นที่ก่อสร้างมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกอยู่ในอำเภอศรีสวัสดิ์ ถัดไปด้านตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขาอยู่ใน อ.บ่อพลอย หนองปรือ เลาขวัญ และห้วยกระเจา พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ เช่น ช้างป่า หากมีการขุดเจาะอุโมงค์อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า“ทางโครงการยังไม่ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ ๑ และ ๗ มีเพียงการใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบการทำรายงาน ต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยา และสภาพภูมิประเทศ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้ข้อมูลทุติยภูมิอาจทำให้ขาดข้อมูลสำคัญที่ควรนำมาวิเคราะห์ผลกระทบ” นายภานุเดช กล่าว สอดคล้องกับเสียงคัดค้านที่มูลนิธิสืบฯ ตั้งข้อสังเกตหลายข้อ เช่น โครงการควรศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสัตว์ป่า ในโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อวิเคราะห์ระดับคลื่นความถี่ของความสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะอุโมงค์ ว่าระดับความลึกของการขุดเจาะจะมีผลกระทบต่อสัตว์ป่าขนาดใหญ่หรือไม่ และนำเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ อีกครั้งก่อนผ่านรายงาน เสือ ช้าง ที่พบในป่าสลักพระหากดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ ๑ และ ๗ จะตัดผ่านกลางเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ผ่านลุ่มน้ำชั้น ๑A เพื่อผันน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำลำอีซู พื้นที่ตามแนวอุโมงค์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ หากดำเนินการจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาในพื้นที่แนวอุโมงค์และที่สำคัญ กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี โดยไม่ต้องใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยตรง และควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครอง ทั้งหมดคือมุมมองและความห่วงใยของนักอนุรักษ์ที่มีต่อโครงการนี้ นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรการลงพื้นที่ร่วมกันได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ทุกฝ่ายอาจหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๗ ก่อนสรุปรายงานเข้า กก.วล. วันที่ ๗ มี.ค. อันเป็นช่วงเวลาที่หลายฝ่ายมองว่าคล้ายเร่งรีบเพื่อสรุปรายงานนำเสนอ… สามารถติดตามความคืบหน้า “โครงการอุโมงค์สลักพระหมื่นล้าน” ได้ต่อใน EP.๓