วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

อุโมงค์ผ่าป่าสลักพระ เปิดรายงานป่าสมบูรณ์ สั่งเด้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ EP.๓

28 ก.พ. 2024
61

“ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์” นำเสนอต่อเนื่องเป็น “EP.๓” กับการเจาะเบื้องหลัง โครงการอุโมงค์ผันนํ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ แก้ปัญหาภัยแล้ง ๕ อำเภอ จ.กาญจนบุรี ภายใต้งบประมาณ ๑.๒ หมื่นล้าน มีแผนขุดอุโมงค์ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ป่าอนุรักษ์ผืนเดียวกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ป่าสมบูรณ์ลุ่มน้ำชั้น ๑A เป็นระยะทางยาวถึง ๒๐.๕ กิโลเมตร ตัวอุโมงค์มีขนาด ๔.๒๐ เมตร ขุดเจาะลึกจากพื้นดินประมาณ ๕๐๐ เมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ปลายอุโมงค์อยู่ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากฝ่ายนักอนุรักษ์ นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มองว่าโครงการนี้อาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย” และจะส่งผลกระทบกับสัตว์ป่า พืชพรรณ และธรรมชาติ “ทีมข่าวเฉพาะกิจ ไทยรัฐทีวี” เกาะติดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง นำเสนอข้อมูลของทั้ง ๒ ฝั่ง ทั้งในซีกของโครงการฯ และในมุมของนักอนุรักษ์ที่มีความเห็นต่าง กระทั่งวันที่ ๖ ก.พ. ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งที่ ๕๒๒/๒๕๖๗ ลงวันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๖๗ ย้าย นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ ให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ บ้านโป่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเบื้องหลังคำสั่งย้าย เป็นเพราะนายไพฑูรย์นำเสนอรายงานความสมบูรณ์ของผืนป่าสลักพระ ที่ระบุไม่สนับสนุนการก่อสร้างอุโมงค์หรือไม่ นายไพฑูรย์ อินทรบุตร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส“ทีมข่าวไทยรัฐ” ไม่รอที่จะเปิดรายงานฉบับนี้ในทันใด!!ในรายงานที่นายไพฑูรย์เสนอกลับไป สรุปไว้ชัดเจนว่าพื้นที่แนวก่อสร้างอุโมงค์ตลอด ๒๐.๕ กม. ใต้ผืนป่าสลักพระ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑A ล้วนมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีสภาพภูเขาสูงต่ำที่มีแนวสลับซับซ้อน โดยเฉพาะพื้นที่ “ทุ่งนามอญ” ที่อยู่เหนือแนวอุโมงค์ เป็นพื้นที่อาศัยสําคัญของสัตว์ป่า ที่ถูกจัดเป็น “เขตหวงห้าม” (Strict Nature Reserve Zone) เป็นบริเวณที่มีสังคมพืชและป่าไม้สมบูรณ์ ควรค่าแก่การรักษาไว้ เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ํา ลําธาร ซึ่งพื้นที่เขตนี้ไม่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากจะปล่อยไว้ให้เป็นสภาพธรรมชาติแบบดั้งเดิม เพื่อมิให้เกิดการรบกวนการเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และสภาพธรรมชาติโดยรอบ ดังนั้นแนวคิดทำอุโมงค์ใต้ผืนป่าสลักพระ “นับเป็นความบอบบางต่อระบบนิเวศเป็นอย่างสูง” หนังสือรายงานที่ส่งกลับให้อุทยานฯเป็นความเห็นไม่สนับสนุนการก่อสร้างอุโมงค์อย่างชัดเจน!นอกจากนี้ในรายงานยังระบุพื้นที่ที่มีการพบการขยายถิ่นของ “เสือโคร่ง” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า ทั้งนี้ ยังไม่รวมประชากรของช้างป่า กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า และนกเงือก ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัย หากมีการก่อสร้างอุโมงค์ จะเป็นการทำลายพื้นที่หากินของเสือโคร่ง และตัดผ่านที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ซึ่งหากมีการก่อสร้างอุโมงค์ ก็จะกระทบกับโขลงช้างป่าที่มีอยู่กว่า ๓๐๐ ตัว ในป่าผืนนี้ จนอาจมีการย้ายถิ่นลงไปรบกวนชาวบ้านอย่างแน่นอนและที่สำคัญ พื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สําคัญของประเทศไทย และยังมีการศึกษาวิจัย ซึ่งอยู่ระหว่างการดําเนินโครงการอีกหลายโครงการ อาทิ การผสมเทียมละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของประเทศไทย เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกรมอุทยานฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกันศึกษาวิจัยการรักษาสายพันธุ์ละองหรือละมั่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศ และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ แผนที่ประชากรสัตว์เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระสามารถเป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรละองหรือละมั่งได้ จึงได้มีการจัดทําโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ (พระนามในขณะนั้น) ทรงเสด็จเป็นประธานปล่อยสัตว์ป่า เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ ปัจจุบันพบว่าละองหรือละมั่ง มีการสืบพันธุ์และขยายประชากรเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในขั้นตอนการสรุปผลถึงความคงอยู่ของประชากรละองหรือละมั่งในป่าธรรมชาติได้ ต้องอาศัยระยะเวลาการศึกษาเรื่องการฟื้นฟูประชากรละองหรือละมั่งในพื้นที่ดังกล่าว ถึงการสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ ๓-๔ จากประชากรตั้งต้น เนื่องจากละองหรือละมั่งเป็นสัตว์ที่อ่อนไหว ตกใจง่าย และช็อกตายได้ง่ายจากการพบละองหรือละมั่งตายติดต่อกันหลายตัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ส่งพิสูจน์ซากไม่มีบาดแผล พบว่าหัวใจสูบฉีดแรงเกินไป จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่อ่อนแอต่อการถูกคุกคาม การเข้าพื้นที่เพื่อดําเนินโครงการงานจ้างสํารวจ ออกแบบ โครงการผันน้ําจากเขื่อนศรี นครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี ที่ผ่านพื้นที่อาศัยของสัตว์ชนิดนี้จึงถือว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นฟูประชากรละองหรือละมั่งในป่าธรรมชาติ และที่นี่ยังมีโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกอีกด้วย รายงานจาก “คนที่อยู่กับป่า” ถูกเปิดโปงโดย “ทีมข่าวไทยรัฐทีวี” ซึ่งตามมาด้วยคำสั่งย้ายนายไพฑูรย์ท่ามกลางความกังขา ซึ่งเรื่องนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาชี้แจงว่า เกิดจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี มีเหตุไฟไหม้ป่าหลายจุด บางพื้นที่รุนแรงยังไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนดนโยบายและแนวทางอย่างเคร่งครัด ดังนั้นจึงมีคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระออกไป เพื่อความเหมาะสมในการป้องกันไฟป่าต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวที่ว่า นายไพฑูรย์แสดงความเห็นคัดค้านแนวอุโมงค์ผันน้ำ ผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระแต่อย่างใดสามารถติดตามความคืบหน้า “โครงการอุโมงค์สลักพระหมื่นล้าน” ได้ใน EP.๔ .