วันอังคาร, 5 พฤศจิกายน 2567

“เบญจา” เผยผลประชุม กมธ. ปมไฟฟ้าสวัสดิการ ทร.สัตหีบ ประชาชนร้องแพง-คุณภาพแย่

“เบญจา” สส.ก้าวไกล ชี้ ปัญหาไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สัตหีบ ค่าไฟแพง-คุณภาพย่ำแย่ กระทบประชาชน ยกโมเดลบ้านฉางระยอง โอนให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการ เตรียมนำหารือในประชุม กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ สัปดาห์หน้าวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่างๆ ของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ครั้งที่ ๒) เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระสำคัญ ๒ เรื่อง คือการพิจารณาเรื่องการให้บริการกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และการพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานของ กมธ.ทั้งนี้ เนื่องจากมติในการประชุมครั้งก่อนอนุญาตให้ถ่ายทอดสดได้เป็นครั้งคราว เมื่อเริ่มการประชุม กมธ.สัดส่วนพรรคก้าวไกล จึงเสนอให้ถ่ายทอดสด เพราะทั้ง ๒ วาระเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ต้องจ่ายค่าไฟแพง การขอมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่ใช้มิเตอร์ชั่วคราว แต่ประธาน กมธ.ระบุข้อกังวลเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของกองทัพ และยืนยันไม่ให้ถ่ายทอดสดส่วนการถ่ายโอนกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปอยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จากการประชุมทำให้ได้ทราบข้อมูลที่ไม่เคยทราบมาก่อน ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ขายไฟให้กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ แล้วกิจการฯ ก็ขายไฟต่อให้ประชาชนในราคาที่สูงกว่า จากปกติ ๔ บาทกว่าต่อหน่วย มิเตอร์ถาวรของกิจการฯ ขายประมาณ ๖ บาทกว่าต่อหน่วย ส่วนมิเตอร์ไฟชั่วคราว สูงไปถึง ๘-๑๐ บาทต่อหน่วย นอกจากค่าไฟแพง คุณภาพการให้บริการยังมีปัญหาไฟตก ไฟติดๆ ดับๆ ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของประชาชนเสียหาย อีกทั้งพบว่าเฟซบุ๊กเพจของกิจการฯ มีประชาชนเข้ามาตำหนิต่อว่าอยู่เสมอ จึงเป็นปัจจัยสำคัญนำมาสู่การพิจารณาศึกษาว่าจะถ่ายโอนธุรกิจนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาดูแลได้อย่างไรบ้างเมื่อถามถึงอัตราค่าไฟที่กิจการฯ ขายให้ประชาชนแพงกว่าปกติ น.ส.เบญจา ระบุว่า กองทัพไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้อย่างชัดเจน บอกเพียงว่าอัตราค่าไฟเท่ากับ กฟภ. แต่เรามีบิลค่าไฟจากพี่น้องประชาชนมายืนยันว่าค่าไฟแตกต่างกัน แม้กองทัพจะบอกว่านั่นคือมิเตอร์ชั่วคราว เราก็ยืนยันกลับไปว่า ต่อให้เป็นมิเตอร์ถาวรถ้าดูจากบิลค่าไฟจะเห็นชัดเจนว่ามีความแตกต่างอยู่ประมาณ ๒ บาทต่อหน่วย เช่น ประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ของกองทัพ ใช้จำนวนหน่วยไฟฟ้าเท่ากัน จ่ายประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แต่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กิจการฯ ต้องจ่ายประมาณ ๖,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับภาษีอื่นๆ เท่ากับจ่ายค่าไฟสูงกว่าความเป็นจริงเกือบ ๓ เท่าตัว“เราไม่ติดใจเลยถ้ากองทัพสำรองไฟไว้ใช้แค่ในกิจการภายในและอยู่ในพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งควรแบ่งให้ชัดเจน เช่น พื้นที่ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ พื้นที่การรบ แต่พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือ เช่น เป็นรีสอร์ต เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ กองทัพเรือยังมีความจำเป็นต้องเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าหรือไม่”tt ttขณะที่ในสัปดาห์ต่อไป กมธ.จะศึกษาโมเดลการโอนถ่ายกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ ของ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ที่เคยโอนถ่ายเมื่อปี ๒๕๓๗ ให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดูแล โดยปัจจุบันพื้นที่ อ.บ้านฉาง คล้าย อ.สัตหีบ คือกลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ ในการประชุม กองทัพเรือชี้แจงว่า ยังติดใบอนุญาตที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้จำหน่ายไฟได้อีกประมาณ ๒๕ ปี เรื่องนี้จึงต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปชำระค่าสัมปทานที่กองทัพเรือชำระให้ กกพ. หรือที่กองทัพเรือได้ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าไปแล้ว เพื่อส่งมอบหรือโอนธุรกิจนี้ให้ กฟภ. ดูแล ซึ่งทาง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีความพร้อมอย่างยิ่ง ดังนั้น ถ้านำโมเดลของ อ.บ้านฉาง ปรับใช้กับ อ.สัตหีบ ก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วพร้อมกันนี้ น.ส.เบญจา ยังระบุถึงกรณี นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่ากองทัพยอมรับความเปลี่ยนแปลง โรงไฟฟ้าที่สัตหีบ กองทัพคืนได้ แต่จะกันเอาไว้เฉพาะส่วนที่ใช้ในกองทัพเท่านั้น ตนยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เพราะในที่ประชุม ตัวแทนจากกองทัพไม่ได้พูดเหมือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งยังยืนยันว่าพื้นที่กิจการดังกล่าว เป็นพื้นที่ความมั่นคง ส่วนวาระที่ ๒ คือ การพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานของ กมธ.ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ต้องการหารือเกี่ยวกับขอบเขตการทำงานของ กมธ.ชุดนี้ แต่ประธาน กมธ.ยังไม่มีความชัดเจน ขอเลื่อนเป็นวาระการประชุมครั้งหน้า ซึ่ง กมธ.สัดส่วนพรรคก้าวไกล รวมถึงคนอื่นๆ เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะเรื่องนี้ใช้เวลาไม่นาน ในขณะที่ธุรกิจกองทัพมีจำนวนมาก การทำงานจึงต้องวางกรอบให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อที่การตั้งคณะอนุกรรมาธิการจะสามารถลงรายละเอียดแต่ละประเด็นได้ เช่น อนุกรรมาธิการศึกษาธุรกิจพลังงาน อนุกรรมาธิการศึกษาธุรกิจคลื่นวิทยุ จะทำให้รู้ว่ามีธุรกิจอะไรบ้างของกองทัพที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ หรือที่เป็นสวัสดิการภายใน หรือที่เป็นสวัสดิการที่ต้องส่งเงินคืนคลัง เมื่อเห็นภาพชัด กมธ. จะทำงานได้ครบและรอบด้านภายในกรอบ ๙๐ วัน.