กลุ่มแปลงใหญ่ยางพารา จุดรวบรวมยาง ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส นับเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ต้นแบบในการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพดี เน้นการพัฒนาคุณภาพ การเชื่อมโยงการตลาด และการบริหารจัดการกลุ่ม โดยใช้แนวทางพัฒนา Smart Groupเริ่มมีรวมกลุ่มเมื่อปี ๒๕๖๒ มีพื้นที่ปลูกรวม ๑,๕๙๘ ไร่ สมาชิก ๙๘ ราย มีการผลิตยางก้อนถ้วย แล้วนำไปแปรรูปเป็นยางแท่งและยางเครป เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ ประหยัดเวลา ใช้แรงงานน้อย “ผลลัพธ์ที่สำเร็จในการดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่ ตามแนวทางพัฒนา ๕ ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการลดต้นทุน การผลิต สมาชิกทำปุ๋ยผสมเองในสวนยางพารา ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงโครงสร้างดิน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนและแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตเหลือเพียงไร่ละ ๑,๔๗๐ บาทต่อปี จากเดิมมีต้นทุนไร่ละ ๒,๑๐๐ บาทต่อปี หรือลดต้นทุนไปได้ร้อยละ ๔๓ มีการส่งเสริมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ผลผลิตเพิ่มเป็นไร่ละ ๑๖๒ กิโลกรัมต่อปี จากเดิมได้ผลผลิตไร่ละ ๑๓๕ กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐” ไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๙ สงขลา (สศท.๙) เผยถึงการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของแปลงใหญ่ยางพารา จุดรวบรวมยาง ต.สุคิริน พบอีกว่า ทางกลุ่มยังมีการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องจัดกิจกรรมการประกวดยางก้อนถ้วยในตลาดประมูลยาง ให้รางวัลกับสมาชิกที่ทำยางก้อนถ้วยคุณภาพดี ทำให้สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่มีการตื่นตัวในการทำยางก้อนถ้วยได้คุณภาพดี ทำให้ได้ราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไปกิโลกรัมละ ๕ บาท ส่วนด้านการตลาด นายไพฑูรย์เผยว่า ผลผลิตทั้งหมดกลุ่มแปลงใหญ่จะนำเข้าตลาดประมูลยางพาราเพื่อทำให้สมาชิกมีอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อมากขึ้น ลดปัญหาด้านการขนส่งและทำให้ราคาท้องถิ่นในพื้นที่ประมูลยางมีการแข่งขันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่มได้รับราคาที่สูงขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีการพัฒนาการผลิต ปรับเปลี่ยนการเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบใหม่พร้อมนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยส่งเสริมการใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนระบบเจาะ เพื่อยืดอายุการเก็บเกี่ยว ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่งเสริมการแปรรูป เช่น นำยางก้อนถ้วยมาทำเป็นยางเครปเพื่อเพิ่มมูลค่า นำระบบประมูลยางพาราอิเล็กทรอนิกส์ของการยางแห่งประเทศไทยมาใช้จัดการตลาดให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นในอนาคตทางกลุ่มแปลงใหญ่มีแผนสร้างโรงปุ๋ยชุมชน ทำปุ๋ยสั่งตัด และปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อจำหน่ายแก่สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดเป็นการช่วยลดต้นทุน.ชาติชาย ศิริพัฒน์คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม