วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ไทยรัฐกรุ๊ปสู่มิติความยั่งยืน Thairath Sustainability Report ๒๐๒๔

03 ก.พ. 2024
44

วันก่อน คุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และ ไทยรัฐออนไลน์ ทายาทรุ่นที่ ๓ ของไทยรัฐ ได้นำหนังสือ Thairath Sustainability Report ๒๐๒๔ ไปมอบให้กับ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง นายกฯเศรษฐา ก็เป็นหนึ่งผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้ด้วยในหัวข้อ “รัฐบาลเพื่อความยั่งยืนสู่อนาคตที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการระดมความคิดเชิงลึกในการสร้างความยั่งยืนจากผู้บริหารระดับสูงในวงการธุรกิจไทย จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่ต้องอ่านวันเสาร์สบายๆวันนี้ผมจึงขอนำ แนวคิดเรื่องความยั่งยืน ของ ไทยรัฐกรุ๊ป มาเล่าสู่กันฟังและคนที่จะเล่าได้ดีที่สุดก็คือ คุณจิตสุภา วัชรพล ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้เอง เชิญอ่านกันครับ“กว่า ๗๕ ปี ที่ ไทยรัฐ เป็นผู้นำด้านการสื่อสารมวลชนของประเทศไทย ในฐานะสื่อเราได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการส่งเสริมการรับรู้ และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนมาโดยตลอด เราเข้าใจดีว่า ความเป็นผู้นำสื่อที่แท้จริงนั้น สามารถทำได้มากกว่าการนำเสนอข้อมูลและตีแผ่ความจริง เราจึงตั้งปณิธานที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นการจัดทำ Thairath Sustainability Report ๒๐๒๔ จึงเป็นความพยายามในฐานะสื่อที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตไว้แค่เพียงการรายงานข่าว หากแต่รวมไปถึงการนำสังคมไปสู่องค์ความรู้และอนาคตที่ดีขึ้น ผ่านการทำความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเจาะข้อมูลเชิงลึก หรือการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำทางความคิดากหลากหลายภาคส่วนของประเทศสิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอมาคือ ความยั่งยืนไม่ได้อยู่แค่ในมิติของสิ่งแวดล้อม หลายคนตกหลุมพรางของ “การฟอกเขียว” หรือ Greenwashing ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายแนวทางปฏิบัติที่หลอกลวง ในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ ในขณะที่แนวทางปฏิบัติจริงอาจไม่สอดคล้องกับคำกล่าวดังกล่าว แต่หากเราได้อ่านวิสัยทัศน์และสิ่งที่แต่ละองค์กรในหนังสือเล่มนี้ได้ลงมือทำแล้วนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครเลยที่จะทำแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยละเลยมิติอื่นๆของความยั่งยืน ทั้งเรื่องสังคม การกำกับกิจการที่ดี และการคำนึงถึงความยั่งยืนของตัวธุรกิจเองด้วยสำหรับคำว่า “ความยั่งยืน” ของ ไทยรัฐ เองไม่ใช่สิ่งที่เราเพิ่งมาใส่ใจ แต่เป็นทั้งกลยุทธ์ในการเติบโตและเป็นค่านิยมหลักขององค์กรที่เรายึดมั่นเสมอมา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงถึงความปรารถนาอย่างแท้จริงในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมในสังคมคือการก่อตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ และการสนับสนุน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง ๑๑๑ แห่ง ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสร้างความยั่งยืนในมิติทางสังคม เพราะเราเชื่อว่าการเข้าถึงการศึกษา ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบที่ยั่งยืนต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชนของพวกเขาต่อไปอีกด้วยสุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณนักเขียนและผู้มีส่วนร่วมในหนังสือเล่มนี้ทุกท่าน ที่ได้แบ่งปันความเชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึกในเรื่องการพัฒนาความยั่งยืนในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราทุกคนจะได้ต่อยอดทางความคิด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้น จากรุ่นสู่รุ่นสืบไป”คำนำของ คุณจิตสุภา วัชรพล ในหนังสือเล่มนี้ได้บอกชัดเจนถึง วิสัยทัศน์และปณิธานของไทยรัฐ กรุ๊ป ที่มุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนและความเท่าเทียมในสังคมไทยโดยเฉพาะมิติทางสังคม การเข้าถึงการศึกษา ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กและเยาวชนและครอบครัวและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป.“ลม เปลี่ยนทิศ”คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม