มติเอกฉันท์ ไม่ทบทวนปรับค่าจ้างใหม่ ยืนมติเดิม ๘ ธันวาคมปรับขึ้น ๑๗ กลุ่มจังหวัด อัตรา ๒-๑๖ บาท เข้าครม. ๒๕ ธันวาคมมีผล ๑ มกราคม๖๗ -ปลัดแรงงาน ยัน เป็นไปตามมติ จะปรับขึ้นอีกช่วง เมษายนหลังได้สูตรคำนวณใหม่ ชงให้ค่าจ้างพุ่งแตะ ๔๐๐ บาท ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ ๒๐ ธ.ค. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ด) ชุดที่ ๒๒ เป็นประการประชุมบอร์ดค่าจ้างไตรภาคีเพื่อพิจารณาว่าควรจะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่หรือไม่ หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการคลัง เห็นว่ามติของบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ ๘ ธ.ค. ที่ให้ปรับขึ้น ๑๗ กลุ่มจังหวัดในอัตรา ๒-๑๖ บาท น้อยเกินไปและนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการแรงงาน ได้ดึงมติบอร์ดค่าจ้างกลับมาพิจารณาและให้มีการปรับสูตรการคำนวณใหม่ โดยมีบอร์ดฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาล ๑๕ คนร่วมประชุมครบทุกคนโดยในที่ประชุมมีการซักถามถึงเหตุผลที่จะนำกลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากมติเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมมีความเหมาะสม และเป็นเอกฉันท์ และมองว่าการประชุมวันนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก หลังจากใช้เวลาประชุมประมาณ ๒ ชั่วโมงจึงได้ข้อยุติ โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันทั้ง ๓ ฝ่ายให้ยืนมติเดิมในวันที่ ๘ ธ.ค.tt ttนายไพโรจน์ กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้นำข้อสังเกตของ รัฐมนตรีว่าการแรงงาน มาประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี ๒๕๖๗ และได้มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปตามมติเดิมเมื่อวันที่ ๘ ธ.ค. เนื่องจากสูตรการคำนวณที่ใช้กำหนดอัตราค่าจ้างเป็นสูตรที่ทุกฝ่ายเห็นชอบให้ทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าจ้างรายจังหวัดด้วยเหตุผลบนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบันจึงเห็นควรให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมและเป็นความจริงอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคเป็นธรรมและน่าเชื่อถือ ส่วนข้อสังเกตของ รัฐมนตรีว่าการแรงงาน จะได้นำไปประกอบการพิจารณาปรับสูตรในการกำหนดค่าจ้างใหม่เพื่อพิจารณาค่าจ้างใหม่เร็วที่สุดเมื่อสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อเรียกร้องของลูกจ้าง ในวันที่ ๑๗ มกราคมจะเสนอรายชื่อตั้งอนุกรรมการพิจารณาสูตรปรับค่าจ้างใหม่ เมื่อได้แล้วจะส่งให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดนำสูตรใหม่ไปคำนวณอัตราค่าจ้างรายจังหวัด จะเป็นการสังคายนาสูตรการคำนวณปรับค่าจ้างใหม่ในรอบ ๖ ปีนายไพโรจน์ กล่าวว่า การประชุมวันนี่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายไม่มีการโหวตเพราะไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขมติเดิมที่จบไปแล้ว หากไปเปลี่ยนแปลงทำให้ข้อมูลเปลี่ยนไปจะทำให้มติเดิมไม่ศักดิ์สิทธิ์ และขอเสนอไปเป็นการปรับสูตรค่าจ้างใหม่ และให้เพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสูตรใหม่อีกครั้งเร็วที่สุดซึ่งเป็นทางออกที่ดี ได้นำเรียน รัฐมนตรีว่าการแรงงาน รับทราบแล้ว จะนำมติบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ ๘ ธ.ค. เข้า ครม. ในสัปดาห์หน้า ถึงตอนนี้รู้สึกโล่งใจ ตนเป็นปลัดกระทรวงได้ทำเต็มที่แล้ว โดยอาจจะมีการปรับค่าจ้างอีกครั้งในเดือน เม.ย.-พ.ค. ปีหน้า โดยสูตรการคำนวณเก่าจะมีการพิจารณาในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ซึ่งเป็นช่วงโควิด อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ จึงต้องปรับสูตรคำนวณใหม่นอกจากตัดสองปีนี้ออกไปยังต้องเพิ่มเกณฑ์ค่าจ้างรายอาชีพด้วยซึ่งจะทำให้เปอร์เซ็นต์ในการปรับค่าจ้างสูงขึ้น และมีโอกาสดันค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ให้ไปใกล้แตะ ๔๐๐ บาทนายอรรถยุทธ ลียะวณิช บอร์ดค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า มติบอร์ดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมเหมาะสมอยู่แล้วในวันนี้จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดค่าจ้างยังยืนยันมติเดิม ยกเว้นในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อพุ่งพราด หรือเศรษฐกิจไม่ดี ก็สามารถนำเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการปรับค่าจ้างใหม่ในปีหน้าจะมีการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้านช่วยกันคิดว่าสูตรไหนจะเหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดและทุกฝ่ายยอมรับก็จะใช้สูตรนั้นในทุกจังหวัด โดยการปรับขึ้นครั้งหน้าต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายจึงจะไปด้วยกันได้ เพราะถ้าไม่ปรับขึ้นลูกจ้างอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าปรับขึ้นมากนายจ้างก็ไม่ไหว จึงต้องให้พอดีและมีเหตุผลว่าสมควรปรับหรือไม่ ถ้าจะให้มีการปรับอีกรอบก็เห็นด้วยถ้าเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง“ตามที่เป็นข่าวว่าปรับ ๒ บาท ยังซื้อไข่ไม่ได้ ทำให้ต้องมาคุยกันว่าควรจะทำยังไง เพราะมติบอร์ดที่ผ่านมายังไม่นำเข้า ครม. หลายคนให้เหตุผลว่าหากครั้งนี้ปรับตามที่การเมืองแทรกแซงแล้วเราให้ไปตามนั้น ครั้งต่อไปก็จะมาแทรกแซงตลอด แล้วจะมีบอร์ดค่าจ้างไว้ทำไม บอร์ดชุดนี้ก็ไม่ควรมี ในครั้งนี้ถือว่าการเมืองแทรกแซงไม่สำเร็จ ขอวิงวอนให้ยุติแทรกแซง ถ้าอยากจะทราบข้อมูลอะไรทางฝ่ายเลขาฯ บอร์ดค่าจ้าง หรือฝ่ายนายจ้างพร้อมให้ข้อมูลก่อนที่ท่านจะไปให้สัมภาษณ์เพราะจะเกิดความเสียหาย เพราะบอร์ดพิจารณาตามกฎหมายระบุไว้ทุกอย่างและจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบในอดีตที่เมื่อปี ๒๕๕๖ ที่ถูกพิษการเมืองแทรกจนต้องปรับค่าจ้างจาก ๒๕๑ บาท ไปเป็น ๓๐๐ บาททั่วประเทศ นายจ้างและเอสเอ็มอีล้มหายตายจากไปมาก” นายอรรถยุทธ กล่าวด้านนายวีรสุข แก้วบุญปัน บอร์ดค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ลูกจ้างอยากได้ค่าจ้างเพิ่มอยู่แล้ว แต่ต้องมองตามสถานการณ์ความเป็นจริง ถ้าเพิ่มแล้วจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และตามหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถ้าจะมาปรับเปลี่ยนคงไม่เหมาะสม และครั้งนี้ทั้งบอร์ดค่าจ้างและที่ปรึกษาก็ไม่มีใครเห็นต่างจึงให้เป็นไปตามมติเดิมเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมโดยไม่มีใครค้าน แต่หากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นก็สามารถนำกลับมาพิจารณาปรับค่าจ้างอีกครั้งหนึ่งได้ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการแรงงาน กล่าวถึงการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ว่า การเมืองไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยในการนำอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ช่วงโควิด-๑๙ มารวมคำนวณค่าเฉลี่ยด้วย เพราะช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำมาก ทำให้อัตราค่าเฉลี่ยต่ำลง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง จึงต้องมีการประชุมหารือของคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายผ่านปลัดกระทรวงแรงงานให้ไปหารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างใหม่ โดยไม่นำปี ๒๖๖๓-๒๕๖๔ มาคำนวณ พร้อมลงรายละเอียดการพิจารณาจากเดิมเป็นรายจังหวัด มาดูเป็นรายอำเภอ รายอาชีพ และรายภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่สุดกับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นค่าจ้างแรกเข้าทำงาน โดยมีแรงงานไทยได้รับประโยชน์ประมาณ ๗ ล้านคน และแรงงานต่างด้าวประมาณ ๒.๕ ล้านคนtt ttนายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เป็นอีกมิติหนึ่งของกระทรวงแรงงานในยุคที่ผมเข้ามาทำงาน และยุคของท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีศิลป์ ที่ได้ให้นโยบายมา เราก็คงต้องมารื้อระบบว่า ต่อไปเราคงไม่ประกาศเหมาทั้งจังหวัด แต่อาจจะลงลึกในรายอำเภอ เทศบาลหรือรายอาชีพ เช่น วันนี้ประเทศไทยอัดฉีดการท่องเที่ยว ฉะนั้นสาขาการท่องเที่ยวและบันเทิง ค่าแรงก็ควรจะขึ้นเป็นกรณีพิเศษได้หรือไม่ และตามที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศเปิดสถานบริการได้ถึงเวลา ตี ๔ ใน ๔ จังหวัด ดังนั้น ภาคบริการท่องเที่ยวควรจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้มากกว่าสาขาอื่นหรือไม่ เราจะต้องหาข้อมูลและทำการศึกษาว่าเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นการประกาศปรับในกลางปีหน้าหรือปี ๒๕๖๘ ต่อไปสำหรับการปรับอัตราค่าจ้างแบ่งเป็น ๑๗ กลุ่ม คือ อัตรา ๓๗๐ บาท ๑ จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต อัตรา ๓๖๓ บาท ๖ จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร อัตรา ๓๖๑ บาท ๒ จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง อัตรา ๓๕๒ บาท ๑ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อัตรา ๓๕๑ บาท ๑ จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม อัตรา ๓๕๐ บาท ๖ จังหวัด ได้แก่พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ อัตรา ๓๔๙ บาท ๑ จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี อัตรา ๓๔๘ บาท ๓ จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี นครนายก หนองคาย อัตรา ๓๔๗ บาท ๒ จังหวัดได้แก่ กระบี่ ตราด อัตรา ๓๔๕ บาท ๑๕ จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา จันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก พิษณุโลกอัตรา ๓๔๔ บาท ๓ จังหวัดได้แก่ เพชรบุรี ชุมพร สุรินทร์ อัตรา ๓๔๓ บาท ๓ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ลำพูน นครสวรรค์ อัตรา ๓๔๒ บาท ๕ จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ อัตรา ๓๔๑ บาท ๕ จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ อ่างทอง อัตรา ๓๔๐ บาท ๑๖ จังหวัด ได้แก่ ระนอง สตูล เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ราชบุรี อัตรา ๓๓๘ บาท ๔ จังหวัด ได้แก่ ตรัง น่าน พะเยา แพร่ และอัตรา ๓๓๐ บาท ๓ จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา
ไม่ทบทวน ปรับค่าจ้างใหม่ ปรับ ๒-๑๖ บาท เข้า คณะรัฐมนตรี๒๕ ธันวาคมมีผล ๑ ม.ค. ๖๗
เรื่องที่เกี่ยวข้อง