วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ทร.ซ้อมรบประจำปี ๖๗ นำทหาร ๔,๕๐๐ นาย ฝึกตามแผนป้องกัน ปท.ทั้งทางบก-ทะเล

05 มี.ค. 2024
33

“บิ๊กดุง” เปิดการฝึกกองทัพเรือ นำกำลังรบ ๔,๕๐๐ นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ฝึกตามแผนป้องกันประเทศ ประจำปี ๒๕๖๗ ภายใต้ “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” ทั้งภาคทะเล และบก โดยกำลังพลจะได้รับความรู้ และขีดความสามารถ และข้อจำกัดของกำลังทางเรือเมื่อวันที่ ๕ มี.ค. ๖๗ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๗ โดยมี ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ คณะทำงานกองอำนวยการฝึกฯ และกำลังรบทั้ง ๓ มิติ พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ แถวรับการตรวจความพร้อมการฝึกดำรงความพร้อมรบ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านกำลังรบ ในการรักษาอธิปไตยของชาติ ตามแผนป้องกันประเทศ ภายใต้การฝึกที่ว่า “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข ๑๕ หาดยาวแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  ในการนี้ กำลังพลของกองทัพเรือ ทั้งทางบก เรือ และอากาศ ได้ประกอบกำลังเป็นหน่วยกำลังรบ สาธิตการปฏิบัติการทางทหาร โดยจำลองสถานการณ์การสู้รบปัญหาความขัดแย้งป้องกันพื้นที่ชายฝั่ง โดยภารกิจในการป้องกันภัยทางอากาศนั้น กองทัพอากาศ ได้ส่งเครื่องบินขึ้นสกัดกั้นข้าศึก ๒ ลำ และไล่ติดพันมากันมาจนใกล้เข้าเขตการยิง ก่อนส่งมอบเป้าให้กับหน่วย สอ.รฝ. ทำการใช้อาวุธปล่อยนำวิถี FK-๓ และปืนต่อสู้อากาศยาน ทำการยิงสกัดกั้นทำลายเป้าหมายทางอากาศ และกำลังรบยกพลขึ้นบก กำลังปฏิบัติการพิเศษ อาวุธจากเรือผิวน้ำ และอากาศยาน จากฝ่ายข้าศึก  การฝึกกองทัพเรือ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ พ.ย. ๖๖–๑ ส.ค. ๖๗ โดยมีกำลังพลจากหน่วยขึ้นตรง ประกอบด้วย กำลังรบทางเรือ กองเรือยุทธการ (กร.) กำลังรบทหารราบ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (น.ย.) กำลังรบต่อสู้อากาศยาน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ตลอดจน หน่วยสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๔,๕๐๐ นาย มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเล และบนบก อาทิ การคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล การโจมตีกำลังทางเรือของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การป้องกันฝั่ง การปราบเรือดำน้ำ การต่อต้านเรือผิวน้ำ การป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งปฏิบัติการข่าวสาร และสงครามไซเบอร์  ทั้งนี้ จะมีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ESSM การฝึกยิงตอร์ปิโด การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยาน ซึ่งนอกจากอากาศยานของกองทัพเรือแล้ว กองทัพอากาศ ยังได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่แบบ JAS-๓๙ Gripen (บข.๒๐) และเครื่องบินควบคุม และแจ้งเตือนภัยทางอากาศ SAAB ๓๔๐ AEW (บ.ค.๑) เข้าร่วมในการฝึกการป้องกันภัยทางอากาศและการโจมตีเรือในทะเล  ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกฯ นอกจากกำลังพลจะได้รับความรู้ ความชำนาญ ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถ และข้อจำกัดของกำลังทางเรือ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับ ศรชล. และเหล่าทัพ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถภารกิจป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังทางเรือในสงคราม ยังสามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติได้อีกด้วย.