กรมราชทัณฑ์ ไฟเขียว “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยในหลายประการ ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด รักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง หากเกิดภาวะแทรกซ้อนเสี่ยงถึงชีวิต รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม ยันระเบียบขังนอกเรือนจำไม่ได้ออกเพื่อ “ทักษิณ” แต่อย่างใดเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๗ กรมราชทัณฑ์ ได้ออกหนังสือชี้แจง กรณีตามที่กรมราชทัณฑ์ ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ส.ค. ๒๕๖๖ โดยพบว่านายทักษิณ มีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต จึงเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าโดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นั้น กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ขณะนี้นายทักษิณ ได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา ๑๒๐ วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานมายัง กรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการ ดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า ๑๒๐ วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไปอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๘ มกราคมให้นายทักษิณ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.๒๕๖๓ โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขัง พึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๓ และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.๒๕๔๙ ข้อ ๒๗ ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นกฎหมายอยู่ใน พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา ๓๓/๑๔ ซึ่งการแก้กฎหมายเมื่อปี ๒๕๖๐ เขียนด้วยเจตนารมณ์ชัดเจนว่า การไม่มีที่คุมขังอื่น ใช้เฉพาะเรือนจำนั้น เราไม่สามารถพัฒนาพฤตินิสัยได้ตามเจตนารมณ์ เราไม่ต้องการให้เรือนจำแออัด เราไม่ต้องการให้เรือนจำละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องการให้ผู้ที่ก้าวพลาดมาอยู่ที่เรือนจำ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ด้านความรู้ อาชีพ จึงได้มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา โดยวันนี้กฎกระทรวงได้ออกมาแล้ว ซึ่งกฎหมายให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน ๙๐ วัน แต่ผ่านมา ๖ ปีแล้วยังไม่ทำ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ประกาศเรื่องหลักยุติธรรม ซึ่งหลักยุติธรรมอันหนึ่ง คือ เราต้องออกกฎหมายที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการออกกฎเกณฑ์นี้ไม่เกี่ยวกับท่านทักษิณ แต่อย่างใด การจะออกกฎหมาย หรือระเบียบเจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไม่ได้ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ ซึ่งกระบวนการจะให้เกิดความรอบคอบ เมื่ออธิบดีได้ออกกฎกระทรวง เราจะมีคณะกรรมการราชทัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีคนของกระทรวงยุติธรรมแค่ ๓ คน ในทั้งหมด ๑๙ คน ส่วนอีก ๑๖ คน จะเป็นคนภายนอกทั้งหมดพ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ ในวันนี้ จะไม่มีการพูดเรื่องนายทักทิณ แต่ในที่ประชุมจะพูดถึงเรื่องระเบียบ กฎกระทรวง เราเป็นห่วงเรื่องตัวชี้วัดหลักยุติธรรมสากล เพราะประเทศไทยคะแนนเต็ม ๑ เราได้คะแนน ๐.๔๙ ยังไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นเราจะเน้นพูดคุยเรื่องหลักนิติธรรมในกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่หลักใหญ่อยู่ ๓ ประการ คือ จะต้องไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนี และจะต้องไม่ให้ผู้ต้องขังไปก่อเหตุร้าย และจะต้องมีการจำแนกแยกแยะพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ดังนั้นในที่ประชุมจะไม่มีเรื่องตัวบุคคล ส่วนนายทักษิณ จะต้องรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลหรือไม่ เท่าที่ทราบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า การที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในทางกฎหมายราชทัณฑ์ เรามองว่าเป็นเรือนจำ มีผู้คุมดูแล ซึ่งการรักษาตัวดังกล่าวถ้าเกินกว่า ๑๒๐ วัน จะต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดีราชทัณฑ์ แต่กฎกระทรวงเขียนไว้ว่าต้องให้รายงานให้รัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งทราบว่าในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีการเสนอขึ้นมา