วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

สส.ก้าวไกล แจงเคาะให้ซื้อเรือฟริเกต เพราะกองทัพเรือจำเป็น เพิ่มโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ

09 มี.ค. 2024
51

“ชยพล สท้อนดี” แจงเหตุผล กมธ.งบฯ ๖๗ สัดส่วนพรรคก้าวไกล เห็นชอบซื้อเรือฟริเกต ๑,๗๐๐ ล้านบาท เพราะกองทัพเรือมีความจำเป็น หลังเหลือเรือใช้งานแค่ ๓ ลำ แถมยังเพิ่มโอกาสให้ไทยต่อเรือเอง-ซ่อมเรือเอง-สร้างเรือเอง-ผลิตขายได้ในอนาคตวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๗ นายชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ เขต ๘ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ กล่าวถึงกรณี กมธ.งบฯ ๖๗ สัดส่วนพรรคก้าวไกล เห็นชอบต่อคำขออุทธรณ์ของกองทัพเรือในการจัดซื้อเรือฟริเกต วงเงิน ๑,๗๐๐ ล้านบาท ว่าในการประชุม กมธ.งบฯ ๒๕๖๗ กองทัพเรือได้ตั้งงบประมาณจำนวน ๑,๗๐๐ ล้านบาท หรือคิดเป็น ๑๐% ของวงเงินโครงการ เพื่อขอซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือจะสื่อสารว่าเพื่อเป็นการซื้อเรือแฝดคู่กับเรือหลวงภูมิพลที่ซื้อมาจากประเทศเกาหลีใต้ โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา กองทัพเรือยังไม่เคยสื่อสารในรายละเอียดเชิงลึกของโครงการจัดหาเรือครั้งนี้ จนกระทั่งในห้องอนุกรรมาธิการงบฯ ด้านความมั่นคง กองทัพเรือได้นำเอกสารมาชี้แจงถึงความจำเป็นและแนวคิดของการจัดหาเรือครั้งนี้ โดยได้ชี้แจงว่า ตามการประเมินของกองทัพเรือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือฟริเกตจำนวน ๘ ลำเพื่อป้องกันน่านน้ำไทย โดยแบ่งพื้นที่ฝั่งอ่าวอันดามันและอ่าวไทยฝั่งละ ๔ ลำ แต่ในปัจจุบัน กองทัพเรือไทยมีเรือฟริเกตใช้งานเพียง ๔ ลำเท่านั้น ประกอบด้วย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ อายุ ๓๘ ปี, เรือหลวงนเรศวร อายุ ๓๐ ปี, เรือหลวงตากสิน อายุ ๒๙ ปี, เรือหลวงภูมิพล อายุ ๕ ปี จากการชี้แจงของกองทัพเรือ โดยปกติเรือรบฟริเกตจะใช้งานกันอยู่ที่ราว ๓๐ ปีเท่านั้น แต่เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ซื้อเรือฟริเกตใหม่ จึงจำเป็นต้องซ่อมบำรุงเรือให้ใช้งานต่อถึง ๔๐ ปีถึงค่อยปลดระวาง ซึ่งเรือหลวงรัตนโกสินทร์กำลังจะถึงเวลาที่จะต้องปลดระวางในปี ๒๕๖๙ เท่ากับเหลือเวลาใช้งานอีกเพียง ๒ ปีเท่านั้น ทำให้ไทยเหลือเรือฟริเกตใช้งานเพียง ๓ ลำจากความต้องการทั้งหมด ๘ ลำ การซื้อเรือฟริเกตครั้งนี้จะใช้เวลาในการต่อเรือประมาณ ๔-๕ ปี ซึ่งแปลว่าไทยจะได้รับเรือช่วงประมาณปี ๒๕๗๑ ถ้าได้รับอนุมัติโครงการในปีงบฯ ๒๕๖๗ และไทยจะเหลือเรือฟริเกตใช้งานเพียง ๓ ลำเป็นระยะเวลา ๒ ปีก่อนจะได้รับเรือลำใหม่ หากไม่ได้รับอนุมัติงบฯ ในปี ๒๕๖๗ นี้ มีความเป็นไปได้สูงว่ากว่าจะได้รับอนุมัติงบการจัดซื้ออีกทีอาจจะเป็นปีงบฯ ๒๕๖๙ เนื่องจากส่งคำขอสำหรับปีงบฯ ๒๕๖๘ ไม่ทัน ทำให้อาจได้รับเรือช้าถึงปี ๒๕๗๓ แปลว่าจะมีเรือฟริเกตในการป้องกันประเทศเพียง ๓ ลำจากความต้องการ ๘ ลำไปถึง ๔ ปี เป็นความเสี่ยงทางความมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจำนวนยุทโธปกรณ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือระดับฟริเกตตั้งแต่ ๓ จนถึง ๑๔ ลำ ซึ่งหากเกิดภัยความมั่นคงทางทะเลขึ้นมาในช่วงเวลานี้ที่กองทัพเรือไม่มีเรือใช้งาน ก็คงโทษใครไม่ได้นอกจากตัวรัฐบาลเอง นายชยพล กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากเหตุผลด้านความมั่นคง ยังมีเหตุผลด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การจัดหาเรือฟริเกตครั้งนี้ กองทัพเรือได้ชี้แจงในห้องอนุกรรมาธิการงบฯ ด้านความมั่นคงว่าคำนึงถึงเรื่อง Offset Policy เป็นสำคัญ เพราะมีความตั้งใจจะให้เรือลำนี้ต่อในไทย โดยให้บริษัทต่อเรือในไทยทำสัญญาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรับองค์ความรู้ในการต่อเรือ โดยคาดการณ์ว่าจะเกิดการจ้างงานภายในประเทศมากกว่า ๑.๒ ล้านชั่วโมงทำงาน เกิดการจัดซื้อพัสดุในประเทศมากกวว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท และซื้อเหล็กต่อเรือไม่น้อยกว่า ๕๕๐ ตัน โดยประเทศต้นทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเสนอแบบเรือให้กองทัพเรือมีทั้งจากเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี เกาหลีใต้ และสเปน การต่อเรือครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ไทยจะได้ต่อเรือที่มีขนาดมากกว่า ๔,๐๐๐ ตัน ซึ่งปัจจุบันโรงต่อเรือประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อเรือขนาดเพียง ๒,๐๐๐ ตันเท่านั้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ สามารถรองรับการผลิตเรือฟริเกตในการใช้งานเองหรือขายต่อให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ในอนาคต นอกจากนี้ การต่อเรือครั้งนี้ จะเป็นการต่อเรือแบบโมดูล หรือก็คือการแบ่งส่วนเรือให้อู่ต่อเรือหลายเจ้าในไทยมีส่วนร่วมในการสร้าง แล้วค่อยนำมาประกอบเข้าด้วยกันในภายหลัง ทำให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยหลายรายได้รับองค์ความรู้จากโครงการครั้งนี้ด้วย กองทัพเรือเองได้ยืนยันในห้องอนุกรรมาธิการฯ ด้านความมั่นคง ว่าโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตครั้งนี้จะส่งผลทำให้ไทยสามารถ ต่อเรือเอง ซ่อมเรือเอง สร้างเรือเอง และสามารถผลิตขายต่อได้ในอนาคต กองทัพเรือยืนยันว่าโครงการนี้จะถ่ายทอดองค์ความรู้ระดับสูงให้แรงงานไทย ไม่ใช่เป็นเพียงการจ้างงานแบบ low skill เท่านั้น และยืนยันว่าจะแตกต่างจากกรณีของเรือดำน้ำอย่างแน่นอน รวมถึง ผู้บัญชาการทหารเรือเองก็ได้ยืนยันว่าจะพิจารณาเรื่องการจ่ายมูลค่าโครงการเป็นผลผลิตอื่นๆ ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน นายชยพลกล่าวว่า จากการชี้แจงครั้งนี้ เราจึงมองเห็นความสำคัญของตัวโครงการ ทั้งจากปัจจัยด้านความมั่นคงที่เห็นภาพชัดจากข้อมูลที่กองทัพเรือได้นำมาชี้แจง ว่าเราขาดยุทโธปกรณ์ในการปกป้องน่านน้ำไทยจริง ไม่ใช่สถานการณ์การเสริมสร้างรั้วความมั่นคงเช่นการซื้อยุทโธปกรณ์ครั้งอื่นๆ แต่เป็นสถานการณ์ที่ไทยเราไม่มีรั้วในการปกป้องน่านน้ำทะเลไทยแล้ว จึงจำเป็นต้องเร่งจัดซื้อให้ทันการใช้งาน และลดช่องว่างเวลาที่ไทยจะอ่อนแอด้านการปกป้องน่านน้ำให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ปัจจัยด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเงินทั้งหมด ๑,๗๐๐ ล้านบาทจะถูกใช้เพื่อจุดประกายอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้านการต่อเรือให้เติบโตขึ้นจริงในประเทศ และจะทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ รวมไปถึงโอกาสในการผลิตยุทโธปกรณ์ขายให้ต่างประเทศต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับที่ประเทศเกาหลีใต้ทำอยู่ ด้วยเหตุผลนี้เอง การลงทุน ๑,๗๐๐ ล้านบาทจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ในการส่งออกต่อได้ในอนาคต เราจึงมองว่าการลงทุนครั้งนี้ หากกองทัพเรือทำได้จริงตามแนวคิดแนวทางที่วางไว้ จึงสมควรแก่การสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว