น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีอยากให้โปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น เพื่อกระจายรายได้ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในเมืองหลัก สอดรับกับทางหอการค้าไทย ที่เตรียมคลอดโครงการใหม่ ผลักดัน “๑๐ เมืองรอง” ให้เป็นเมืองหลัก ซึ่งเป็นเมืองรองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ ทั้งมิติการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะร่วมกับหอการค้าคัดเลือกเมืองรอง ๑๐ จังหวัดขึ้นมา มีกำหนดเปิดตัวโครงการนี้ เดือน มกราคม๖๗ สำหรับภาพรวมแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปี ๖๗ จะต่อยอดจากแคมเปญหลักของตลาดในประเทศ “๓๖๕ วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” สู่แคมเปญใหม่ “๓๖๕ วัน มหัศจรรย์เที่ยวเมืองรอง” เร่งประชาสัมพันธ์ภายใต้แนวคิด “เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม” มุ่งเน้นการบอกต่อประสบการณ์ทรงคุณค่า และสะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองรอง ในเรื่องงานเทศกาลประเพณีและอาหารถิ่นทั้งนี้ ช่วง ๙ เดือนแรกปี ๖๖ พบว่า เมืองรอง ๕๕ จังหวัด มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยว ๗๓.๓๒ ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น ๓๔.๔๗% เทียบกับช่วงเดียวกันปี ๖๒ ก่อนโควิด-๑๙ ระบาด ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว ๑๖๙,๖๐๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๓๘.๘๖% เทียบกับปี ๖๒ โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางท่องเที่ยว ๒,๓๑๓ บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้น ๓% “คาดว่าตลอดปี ๖๖ ประเทศไทยจะมีรายได้การท่องเที่ยวในเมืองรองเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า ๔๐% เมื่อเทียบกับทั้งปี ๖๒ ส่วนปี ๒๕๖๗ ประเมินว่ารายได้การท่องเที่ยวเมืองรองจะเติบโต ๑๐-๑๕% จากปี ๖๖”น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง ๕๕ จังหวัด ซึ่งตามนิยามคือจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไม่เกิน ๔ ล้านคนต่อปี ภายใต้แนวคิดต่างๆ มาตั้งแต่ปี ๕๘ ด้วยแนวคิด “๑๒ เมืองต้องห้ามพลาด” จากนั้นในปี ๕๙-๖๑ ใช้แนวคิด “๑๒ เมืองต้องห้ามพลาด Plus” ส่วนปี ๖๒-๖๓ แนวคิด “เมืองรอง ต้องลอง” ขณะที่ปี ๖๔-๖๕ แนวคิด “เมืองรองต้องไป” และล่าสุดปี ๖๖-๖๗ แนวคิด “เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม” โดยหลังจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง ทำให้ปัจจุบันบางจังหวัดมีนักท่องเที่ยวเกิน ๔ ล้านคนแล้ว.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่