วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ศน.เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเอาใจ “สายมู” โชว์ “น้ำโขง-พระธาตุ-พ่อโต” ผสมผสานสิ่งเร้นลับ

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ในปี ๒๕๖๗ ได้มอบนโยบายให้กรมการศาสนา (ศน.) ขับเคลื่อนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ (มูเตลู) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย โดยบูรณาการกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กท.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นำพลังแห่งความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งทางศาสนา การผสมผสานกับสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติ โหราศาสตร์ ตลอดจนวัตถุมงคลที่ผู้คนนับถือบูชา มาใช้ในการส่งเสริมจัดแผนงานและโครงการต่างๆ ทั้งนี้ จากรายงานของ Future Market Insight พบว่าการท่องเที่ยงเชิงศรัทธาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก ในปี ๒๕๖๕ มีมูลค่าถึง ๑๓.๗ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าภายใน ๑๐ ปี ข้างหน้า หรือในปี ๒๕๗๖ จะเพิ่มเป็น ๔๐.๙๒ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ ๓ เท่า จึงส่งเสริมให้จัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงศรัทธาที่กำลังเติบโตด้านนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดี ศน. กล่าวว่า ศน.ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และเครือข่ายในพื้นที่จัดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา ๓ เส้นทาง ได้แก่ ๑.เส้นทางความเชื่อความศรัทธาลุ่มแม่น้ำโขง ๕ จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย และ จ.อุดรธานี พร้อมบูรณาการกิจกรรมผ้าไทย ใส่บาตร ปูสาดริมโขง ๒.เส้นทางสักการะ พระธาตุประจำปีเกิด ๑๒ นักษัตร จ.เชียงใหม่ และ ๓.เส้นทางตามรอยเถราจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ จากการจัดกิจกรรมในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว และวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นสร้างรายได้กว่า ๑ พันล้านบาท“ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.-กรกฎาคม๖๖ รวมกว่า ๑.๐๔๕ ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า ๖๑๓,๐๓๐ ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า ๔๓๒,๑๙๔ ล้านบาท นักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด ๕ ลำดับแรก ได้แก่ มาเลเซียกว่า ๓.๒ ล้านคน จีน ๒.๕ ล้านคน เกาหลีใต้ ๑.๑๙ ล้านคน อินเดีย ๑.๑๖ ล้านคน และรัสเซียกว่า ๙ แสนคน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการแสวงบุญสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบมากถึง ๑๐,๘๐๐ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๐.๓๖ ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศในปี ๒๕๖๒ โดยทรัพยากรการท่องเที่ยวมูเตลูของไทย มีทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า/เทวสถาน รูปจำลองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนมูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ ได้แก่ เครื่องรางของขลัง พิธีกรรม และบุคคล” อธิบดี ศน.กล่าว.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่