ยอดส่งมอบพีซี-สมาร์ทโฟนไตรมาสสุดท้ายปี ๖๖ เติบโตครั้งแรกในรอบ ๒ ปี การ์ทเนอร์พบยอดส่งมอบพีซีและสมาร์ทโฟน AI จะเข้ามากินสัดส่วนยอดขายรวมมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคยอมควักกระเป๋าจ่ายได้ง่ายๆ จากข้อกังวลเรื่องราคาและการใช้งานที่ต้องได้มากกว่าถ่ายรูปสวยรันจิต อัตวัล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอาวุโสของการ์ทเนอร์ บริษัทที่ปรึกษาและรับทำวิจัย กล่าวว่า ในไตรมาส ๔ ของปี ๒๕๖๖ ตลาดพีซีหรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วโลกกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากปรับลดลงติดต่อกันมา ๒ ปี หรือ ๘ ไตรมาส โดยคาดการณ์ยอดส่งมอบพีซีโดยรวมในปี ๒๕๖๗ จะอยู่ที่ ๒๕๐.๔ ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น ๓.๕% จากปี ๒๕๖๖ เช่นเดียวกับตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก ซึ่งในไตรมาส ๔ ของปี ๒๕๖๖ มีอัตราเติบโตเป็นไตรมาสแรกในรอบ ๒ ปี ๓ เดือนหลังลดลง ๙ ไตรมาสต่อเนื่อง คาดว่าในปี ๒๕๖๗ ยอดส่งมอบสมาร์ทโฟนทั่วโลกจะเติบโตประมาณ ๔.๒% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านเครื่อง อย่างไรก็ตามจำนวนดังกล่าว ถือว่าต่ำกว่ายอดขายในปี ๒๕๖๖ เกือบ ๖๐ ล้านเครื่องการ์ทเนอร์ ยังคาดการณ์ยอดส่งมอบพีซี AI (AI PC) และสมาร์ทโฟน AI (GenAI Smart phone) ทั่วโลกในปี ๒๕๖๗ ว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยรวมทั้งหมดที่ประมาณ ๒๙๕ ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจาก ๒๙ ล้านเครื่องในปี ๒๕๖๖ หากแยกเฉพาะยอดส่งมอบพีซี AI ในปี ๒๕๖๗ จะคิดเป็น ๒๒% ของยอดส่งมอบรวมทั้งหมดของคอมพิวเตอร์พีซี ขยับจาก ๑๐% เมื่อปีก่อน และคาดว่าจะเป็น ๔๓% ในปี ๒๕๖๘ส่วนยอดส่งมอบสมาร์ทโฟน AI ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในสัดส่วน ๒๒% ของยอดส่งมอบสมาร์ทโฟนในราคาระดับกลางถึงสูงทั่วโลกทั้งหมดเช่นกัน ขยับจากปี ๒๕๖๖ ที่อยู่ ๑% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น ๓๒% ในปี ๒๕๖๘อย่างไรก็ตาม การ์ทเนอร์ประเมินว่า การรวม AI เข้ากับคอมพิวเตอร์พีซี จะยังไม่ใช่ปัจจัยหนุนให้เกิดความต้องการซื้อใหม่มากนัก โดยเฉพาะข้อกังวลด้านราคา ขณะที่ลูกค้าองค์กรต้องการเหตุผลที่น่าสนใจหรือดึงดูดกว่านี้ เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน AI ที่จะไม่ช่วยกระตุ้นความต้องการสมาร์ทโฟนได้อย่างเต็มที่นักจนกว่าจะถึงปี ๒๕๗๐“การเพิ่มประสิทธิภาพสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ จะเพิ่มประสบการณ์การใช้งานกล้องและเสียงไว้ด้วยกัน ซึ่งผู้ใช้มีความคาดหวังกับความสามารถเหล่านี้ มากกว่าฟังก์ชันการทำงานที่แปลกใหม่ จึงยังไม่มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินเพิ่มสำหรับมือถือสมาร์ทโฟน AI เนื่องจากยังไม่มีแอปพลิเคชันแปลกใหม่ ที่ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น”การ์ทเนอร์ประเมินว่า ปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของผู้ใช้ ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่หรือ Large Language Model (LLM) ในเวอร์ชันที่เล็กกว่าและปรับแต่งมาเฉพาะสำหรับสมาร์ทโฟน วิวัฒนาการนี้จะเปลี่ยนโฉมสมาร์ทโฟนให้กลายเป็นเพื่อนคู่คิดที่ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อภาษาและภาพที่มนุษย์ใช้สื่อสารได้ดียิ่งขึ้น.คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม
ยอดขายพีซี-สมาร์ทโฟนเติบโตในรอบ ๒ ปี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง