นายกรัฐมนตรี หารือคณะผู้แทน PEC ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ทางด้านสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทความเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์ และสองฝ่ายเชื่อว่าการพบกัน จะเป็นโอกาสยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับ นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (The Honorable Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย นาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) และคณะ รวม ๑๐ ราย ซึ่งมาจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำของสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและส่งเสริมโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีอย่างยิ่งที่ รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์สหรัฐฯ พาคณะผู้แทน PEC เยือนไทยในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ทั้ง ๒ ฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมาอย่างยาวนาน และไทยถือเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่เชื่อถือได้สำหรับสหรัฐฯ โดยทราบว่า คณะผู้แทน PEC ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทางด้าน ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า การหารือร่วมกันของทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นไปด้วยดี มีการพูดคุยถึงประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี AI ความมั่นคงทางไซเบอร์ (CyberSecurity) รวมถึงการสนับสนุนไทยด้านการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ โดยการหารือเป็นไปด้วยดี สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนาน และทั้งสองฝ่ายพร้อมแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้นอีกขณะที่ รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวชื่นชมบทบาทความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี การทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมายังประเทศไทย และการเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ พร้อมย้ำถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นพ้องเดินหน้าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ได้นำประธานสภา PEC และคณะ ร่วมเดินทางมาไทย เป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โอกาสนี้ ประธาน PEC และคณะผู้แทน ได้แนะนำตัวต่อนายกรัฐมนตรี และต่างชื่นชมในบทบาทการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลักดันและดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกในการลงทุน นอกจากนี้ ทั้ง ๒ ฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ย้ำด้วยว่า จะยังดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นต่อไป ไม่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพ และหวังว่าการเยือนของคณะ PEC ซึ่งเป็น fact-finding visit จะทำให้สหรัฐฯ เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทย พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเต็มที่ ผ่านการยกระดับการค้าการลงทุน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้ในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐฯ พร้อมเชื่อมั่นว่า การประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่สิงคโปร์ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีในการส่งเสริมโอกาสการขยายความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีภารกิจสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในด้านนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการเยือนของคณะ PEC ครั้งนี้เป็น fact-finding visit เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมทั้งจะมีการเผยแพร่รายงานผลการเยือนต่อสาธารณชน.