วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

ไทย-ออสเตรเลีย ย้ำมิตรภาพใกล้ชิดทุกระดับ ผลักดันการค้า การลงทุน-กลาโหม

14 ก.พ. 2024
58

นายกรัฐมนตรี ต้อนรับผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ย้ำมิตรภาพไทย-ออสเตรเลีย ที่ใกล้ชิดในทุกระดับ รวมทั้งได้ร่วมผลักดันความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพ การค้า การลงทุน แลกเปลี่ยนระดับประชาชน และกลาโหมวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เมื่อเวลา ๑๐.๔๕ น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับกับ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ (His Excellency General the Honourable David Hurley AC DSC (Retd)) ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังจากนั้น ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กันบริเวณห้องสีงาช้างด้านนอก จากนั้น เวลา ๑๑.๐๐ น. ทั้งสองฝ่ายร่วมหารือข้อราชการ ณ ห้องสีงาช้างด้านใน โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเยือนในระดับผู้สำเร็จราชการฯ ครั้งแรกในรอบ ๗ ปี สะท้อนมิตรภาพที่แข็งแกร่งระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่ใกล้ชิดกันในทุกระดับ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ (ASEAN – Australia Special Summit) ที่เมืองเมลเบิร์นในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ พร้อมทั้งจะได้พบปะภาคเอกชนของออสเตรเลีย เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ ผู้สำเร็จราชการฯ ขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ยินดีที่ได้เดินทางมายังประเทศไทยอีกครั้ง ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับออสเตรเลียที่ใกล้ชิดมายาวนานในทุกระดับ โดยเฉพาะในโอกาสพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ (๗๒ พรรษา) ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ ๗๒ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย – ออสเตรเลียเช่นกัน เชื่อว่าความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียที่ใกล้ชิดยาวนาน แข็งแกร่งมาก เป็นรากฐานที่สำคัญของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือในภาพรวม ดังนี้เศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียินดีต่อรายงานยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี ค.ศ. ๒๐๔๐ (Invested: Australia’s Southeast Asia Economic Strategy to ๒๐๔๐) ของออสเตรเลีย ซึ่งมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและออสเตรเลียควรเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพ ประกอบกับบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดยนายกรัฐมนตรีประสงค์ให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติ และเทคโนโลยีจากออสเตรเลีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งผู้สำเร็จราชการฯ เห็นว่า ออสเตรเลียมีความพร้อม และมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีศักยภาพในด้านนี้ จึงยินดีสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน การค้าและการลงทุน นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและออสเตรเลียควรร่วมมือกันเพิ่มศักยภาพของความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งจะสนับสนุนมูลค่าและปริมาณการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ และในด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้นักลงทุนชาวออสเตรเลียพิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีอัจฉริยะ และพลังงานสีเขียว ซึ่งรัฐบาลได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต และสนับสนุนด้านนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในโครงการ Landbridge ซึ่งผู้สำเร็จราชการฯ เห็นว่า การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ของนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยภาคเอกชนไทย จะเป็นโอกาสอันดีในการสนับสนุนการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศความร่วมมือด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาขาที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญและเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน และกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตลอดจนความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ความร่วมมือด้านกลาโหม เป็นเสาหลักสำคัญในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและออสเตรเลียมีส่วนร่วมด้านการทหารที่ใกล้ชิด ทั้งการฝึกร่วม การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการฝึกอบรม โดยนายกรัฐมนตรีต้องการเพิ่มพูนความร่วมมือกับออสเตรเลียมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหารกับออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนสนับสนุนความพร้อมด้านการทหารของทั้งสองประเทศในการตอบสนองและรับมือกับความท้าทายในอนาคต ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน – การศึกษา นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและออสเตรเลียยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างกันได้อีกมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา ซึ่งออสเตรเลียถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ที่นักเรียน/นักศึกษาไทยเลือกไปศึกษาต่อ ขณะเดียวกัน ไทยมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันมากขึ้น – การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่กับจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการด้านความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีหวังว่า ไทยและออสเตรเลียจะร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาเพื่อยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนการเดินทางและธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและภริยาเชิญผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียและภริยาไปยังโถงกลางตึกสันติไมตรีเพื่อชมการแสดงศิลปะมวยไทย และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียและภริยา ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก