ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง จุดโดดเด่นในบริเวณนั้นก็คือหลุมดำมวลยวดยิ่งชื่อ ซาจิทาเรียส เอ สตาร์ (Sagittarius A*) แต่ไม่ได้มีแค่หลุมดำยักษ์นี้แค่นั้นที่ถูกมุ่งเน้นศึกษา ยังมีดาวฤกษ์อีกหลายดวงใกล้ซาจิทาเรียส เอ สตาร์ ที่น่าค้นคว้าล่าสุด ทีมวิจัยนานาชาตินำโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยการศึกษามิยางิ ในญี่ปุ่น เผยว่า แรงโน้มถ่วงที่รุนแรงของหลุมดำยักษ์ที่ใจกลางทางช้างเผือก ทำให้สภาพแวดล้อมโดยรอบรุนแรงเกินกว่าที่ดาวฤกษ์จะก่อตัวใกล้หลุมดำได้ ทว่ากลับมีการค้นพบดาวฤกษ์หลายดวงใกล้หลุมดำซาจิทาเรียส เอ สตาร์ นั่นหมายความว่าดาวฤกษ์เหล่านั้นจะต้องก่อตัวจากที่อื่นและเดินทางไปใกล้หลุมดำ คำถามก็คือดาวฤกษ์พวกนี้ก่อตัวที่ไหนการวิจัยเผยว่า ดาวฤกษ์บางดวงอาจมาจากที่ไกลกว่าที่เคยคิดไว้ โดยมาจากนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก ยกตัวอย่างเช่น ทีมได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ซูบารุตลอด ๘ ปีเพื่อสังเกตดาวฤกษ์ชื่อ S๐-๖ อยู่ห่างจากซาจิทาเรียส เอ สตาร์ เพียง ๐.๐๔ ปีแสง ทีมระบุว่า S๐-๖ มีอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านปี และมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับดาวฤกษ์ที่พบในกาแล็กซีขนาดเล็กเพื่อนบ้านของทางช้างเผือก เช่น กาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็ก และกาแล็กซีแคระคนยิงธนู แต่ทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ S๐-๖ น่าจะเกิดในกาแล็กซีขนาดเล็กที่สูญหายไปแล้ว ซึ่งกาแล็กซีนี้เคยโคจรรอบทางช้างเผือกและถูกดูดกลืนรวมเข้ามา นี่เป็นหลักฐานเชิงสังเกตแรกที่เสนอว่าดาวฤกษ์บางดวงในบริเวณใกล้เคียงกับหลุมดำซาจิทาเรียส เอ สตาร์ เป็นดาวฤกษ์ต่างด้าว.(Credit : Miyagi University of Education/NAOJ)อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
ปริศนาดาวฤกษ์ใกล้หลุมดำ ใจกลางกาแล็กซี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง