วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

“พริษฐ์” แถลงข้อเสนอพรรคก้าวไกล “๑+๒” คำถามประชามติรัฐธรรมนูญใหม่

“พริษฐ์” สส.ก้าวไกล แถลงข้อเสนอ “๑+๒” คำถามประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ เน้น ๑ คำถามหลักเปิดกว้าง ๒ คำถามพ่วงลงรายละเอียด หวังเป็นก้าวแรกคลี่คลายความเห็นต่างสู่ข้อสรุปวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวที่อาคารอนาคตใหม่ ในหัวข้อ “ก้าวแรกรัฐธรรมนูญประชาชน ประชามติต้อง ๑+๒ คำถาม” โดยสรุปข้อเสนอของพรรคก้าวไกลต่อนโยบายและกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งในส่วนที่มา กระบวนการ และเนื้อหา พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าประเทศไทยควรจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และต้องไม่ใหม่แค่ชื่อ แต่ควรเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีอีก ๓ องค์ประกอบด้วย คือ เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็วที่สุด, มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และมีกระบวนการในการได้มาที่โอบรับจุดยืนที่แตกต่างของทุกฝ่ายนายพริษฐ์ เผยต่อไปว่า หากจะเดินตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะต้องจัดประชามติอย่างน้อย ๒ ครั้ง คือ๑. ประชามติ B คือการจัดประชามติ ที่เกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในมาตรา ๒๕๖ และหมวด ๑๕/๑ เพื่อให้มีกลไก สสร. ขึ้นมา ซึ่งต้องมีการทำประชามติหลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เนื่องจากเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖(๘))๒. ประชามติ C คือการจัดทำประชามติ หลังจาก สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๔/๒๕๖๔)ส่วนประชามติ A ที่บางฝ่ายเสนอให้จัดเพิ่มขึ้นมาก่อนมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในมาตรา ๒๕๖ และหมวด ๑๕/๑ เข้าสู่สภาฯ หลายฝ่ายยังมองต่างกันว่าจำเป็นต้องจัดหรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า ในมุมกฎหมาย พรรคก้าวไกลเห็นว่าประชามติ A ไม่มีความจำเป็น ซึ่งหากยึดตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ ๒ ครั้ง (B และ C) ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ในมุมการเมือง พรรคก้าวไกลเห็นว่าการจัดทำประชามติ A อาจมีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างใน ๒ ด้าน ดังนี้๑. ทำให้ความเห็นต่างทางกฎหมาย (ในการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ๔/๒๕๖๔ ว่าจะต้องจัดทำประชามติ A หรือไม่) ไม่เป็นอุปสรรคเหมือนปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนไม่ยอมลงคะแนนเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะไม่มีการจัดทำประชามติ A มาก่อน๒. ทำให้ความเห็นต่างทางการเมือง (เช่น เรื่องที่มาและขอบเขตอำนาจของ สสร.) ไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่รัฐสภาจะมีฉันทามติร่วมกันในการให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายจะพร้อมเดินหน้าสนับสนุนร่างที่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับผลของประชามติที่ประชาชนไปออกเสียงในเมื่อข้อเสนอเดิมของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับคำถามประชามติ A (๑ คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน?”) ถูกสภาผู้แทนราษฎรปัดตกเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ พรรคก้าวไกลจึงพัฒนาข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับคำถามประชามติ A ที่เราได้ยื่นต่อคณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า การจัดทำประชามติ A (หากจะมีขึ้น) ควรเป็นการถามคำถามทั้งหมด ๑+๒ คำถาม เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างคำถามหลัก “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)?” (โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ) พร้อมระบุเหตุผลว่า คำถามหลักควรมีลักษณะเปิดกว้างที่สุด เพื่อสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด และเป็นคำถามที่ถามถึงทิศทางภาพรวมโดยไม่มีเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยที่จะทำให้ประชาชนอาจจะเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม หรือไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม หรือกีดกันใครออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คำถามรอง “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด?”, “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกหมวด?” (ตราบใดที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ) เหตุผลคือ เนื่องจากคำถามรอง ควรมีลักษณะเฉพาะเจาะจงไปในประเด็นสำคัญที่แต่ละฝ่ายทางการเมืองยังมีความเห็นต่างกันอยู่ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินและหาข้อสรุปด้วยตนเอง โดยที่ทุกฝ่ายในรัฐสภาพร้อมยอมรับและเดินหน้าต่อร่วมกันตามผลประชามติ“เมื่อเราถามคำถามหลักที่กว้าง นั่นหมายความว่าไม่ว่าท่านจะเห็นในรายละเอียดต่างกันอย่างไร แต่หากท่านเห็นตรงกันในภาพรวมว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็สามารถลงคะแนนเห็นชอบร่วมกันได้ ขณะที่คำถามรองที่เฉพาะเจาะจง ถ้าเราไม่ถามตั้งแต่ประชามติ A ความเห็นต่างที่ยังมีอยู่ในประเด็นดังกล่าวก็จะยังคงไม่มีข้อสรุป และจะทำให้รัฐสภาหาข้อสรุปได้ยากด้วยเงื่อนไขมาตรา ๒๕๖ ที่บอกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เรื่องรายละเอียดของ สสร. นั้นจะต้องได้ฉันทามติในระดับหนึ่งจากทุกฝ่าย”อย่างไรก็ตาม นายพริษฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้พรรคก้าวไกลจะมีการเปิดตัวเว็บไซต์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็นต่อทั้ง ๑+๒ คำถาม เป็นสนามซ้อมประชามติให้ประชาชนทดลองตอบ สร้างความเข้าใจกับคำถามประชามติ และหากประชาชนเห็นตรงกันกับพรรคก้าวไกลว่าคำถามแบบนี้จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาความเห็นต่างที่ยังมีอยู่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้ ก็อยากเชิญทุกคนให้ช่วยกันจับตาและส่งเสียงให้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนับสนุนให้ไปถึงรัฐบาลก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเกี่ยวกับการจัดประชามติและคำถามประชามติหลังปีใหม่ ๒๕๖๗.