องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ IUCN เผยแพร่รายงานสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ฉบับใหม่ ซึ่งพบว่าจำนวนสัตว์ในรายการเพิ่มขึ้นเป็นกว่า ๔๔,๐๐๐ ชนิดแล้ว โดยบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เผยแพร่รายการสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ หรือ “บัญชีแดง” ฉบับใหม่ ออกมาแล้ว โดยระบุว่า สัตว์จำนวนมากกว่า ๔๔,๐๐๐ ชนิดทั่วโลก กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยที่สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี่นับเป็นครั้งแรกที่บัญชีแดงของ IUCN ถูกเผยแพร่ออกมาที่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือ COP ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒๘ ที่นครดูไบ และเพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวันพุธที่ ๑๓ ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเตือนเหล่าผู้นำโลกถึงความเสียหายจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสัตว์ป่าIUCN ระบุว่า ภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น กำลังเป็นภัยต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกของเรา ซึ่งบัญชีแดงฉบับล่าสุดมีการประเมินสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ๑๕๗,๑๙๐ ชนิด และพบว่า ๔๔,๐๑๖ ชนิดในจำนวนนี้เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์แล้วนอกจากนั้น นี่ยังเป็นครั้งแรกที่บัญชีแดงของ IUCN มีการประเมินสถานะของปลาน้ำจืดทั่วโลก โดยพวกเขาตรวจสอบปลาเกือบ ๑๕,๐๐๐ ชนิด และพบว่า ราว ๑ ใน ๔ ของจำนวนนี้เสี่ยงสูญพันธุ์ และเกือบ ๑ ใน ๕ ของปลาที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ได้รับผลกระทบจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศดร.แคเธอรีน เซเยอร์ นักวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของปลาน้ำจืดของ IUCN กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสร้างสภาวะที่ทำให้ระดับน้ำจืดลดลงสวนทางกับน้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลรุกล้ำพื้นที่แม่น้ำ และเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของมัน นอกจากนั้นยังอาจมาพร้อมกับปัญหาอื่นๆ อย่าง มลภาวะ ด้วยดร.เซเยอร์ระบุว่า ตอนนี้มีแหล่งกำเนิดอันตรายมากมายที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของสัตว์น้ำจืด “หนึ่งในนั้นคือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล, การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ แต่ยังมีภัยอื่นๆ ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งภัยคุกคามสำคัญอีกอย่างต่อปลาน้ำจืดคือ มลภาวะ, เขื่อนกับการดึงน้ำไปใช้, สายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น และการจับปลาที่มากเกินไป”หนึ่งในสายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ถูกย้ายจาก สายพันธุ์ที่ “มีความเสี่ยงน้อยที่สุด” ไปเป็น “ใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์” คือปลาซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในโลกอย่าง ปลาแซลมอนแอตแลนติก หรือ ซัลโม ซาลาร์ (Salmo salar) โดย IUCN ระบุว่า หลักฐานใหม่แสดงให้เห็นว่าประชากรทั่วโลกของมัน ลดลง ๒๓% ระหว่างปี ๒๕๔๙-๒๕๖๓“หนึ่งในผลกระทบที่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีต่อแม่น้ำหรือสิ่งแวดล้อมทั้งหมดคือ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และเรามักคิดเสมอว่าเป็นเกี่ยวกับอุณหภูมิในอากาศ แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันที่อุณหภูมิของผืนน้ำ ไม่ว่าจะน้ำจืดหรือน้ำเค็ม ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ปลาแซลมอนแอตแลนติกเป็นตัวอย่างสำคัญว่า ที่ใดที่อุณหภูมิน้ำเพิ่มขึ้น จะมีความเสี่ยงต่อสายพันธุ์ในนั้น เพราะมันลดความสามารถในการมีชีวิตอยู่และเจริญเติบโตของแซลมอนอายุน้อยและของไข่ ซึ่งหมายความว่า อัตราการมีชีวิตของมันไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิมแล้ว”ด็อกเตอร์เซเยอร์บอกด้วยว่า มลภาวะจากอุตสาหกรรมและการเกษตรและมีส่วนด้วย เช่น หากสารพิษจากการทำการเกษตรลงสู่น้ำ มันอาจเปลี่ยนระดับของสารอาหารในน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อย่างปรากฏการณ์ สาหร่ายสะพรั่ง (eutrophication) ซึ่งทำให้สาหร่ายเติบโตในปริมาณที่มากเกินไป หรือมลภาวะจากสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงหรือสารกำจัดวัชพืช ส่วนผลกระทบจากอุตสาหกรรมก็อาจเป็นของเสียจากการทำเหมือง คำเตือนที่มาพร้อมกับบัญชีแดงของ IUCN มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่การประชุม COP๒๘ มีความเคลื่อนไหว แต่รายงานก็มีข่าวเรื่องโครงการที่ประสบความสำเร็จ และหักล้างความเสียหายที่เกิดกับความหลากหลายทางชีวภาพได้ด้วยดร.เครก ฮิลตัน-เทย์เลอร์ หัวหน้าทีมนักวิจัยผู้เขียนรายงานบัญชีแดง กล่าวว่า “บัญชีแดงไม่ได้อัปเดตแต่ข่าวร้าย มันยังมีข่าวดีๆ ที่แสดงให้เห็นว่า เราทำสิ่งที่ถูกต้อง, แสดงให้เห็นว่า การอนุรักษ์สามารถประสบความสำเร็จได้ และเราสามารถสร้างความแตกต่าง และนำสายพันธุ์ต่างๆ กลับมา และช่วยพวกมันให้รอดจากการสูญพันธุ์”หนึ่งในความสำเร็จใหญ่ที่สุดคือ โครงการฟื้นฟูกวางออริกซ์เขาดาบโค้ง (Scimitar-horned oryx) ที่เคยอาศัยอยู่มากมายในภูมิภาคซาเฮล ในอเมริกาเหนือ แต่ถูกกำจัดจนหมดสิ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ ๙๐ โดยถึงแม้ว่าพวกมันจะยังไม่แพร่หลายเหมือนเดิม แต่จำนวนของพวกมันก็กำลังเพิ่มขึ้น“เมื่อปีก่อน มีกวางน้อยเกิดใหม่มากกว่า ๒๐๐ ตัว จึงดูมีความหวังมากว่าสัตว์สายพันธุ์นี้จะกลับมาได้สำเร็จ พวกมันเคยถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ แต่ตอนนี้ถูกจัดเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์แล้ว”นอกจากนั้น ยังมีข่าวดีจากคาซัคสถาน, มองโกเลีย และอุซเบกิสถาน เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถฟื้นฟูประชากรกวางแอนทีโลปสายพันธุ์ ไซกะ และสายพันธ์อื่นๆ กลับมาได้ หลังจากพวกมันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล่าสัตว์ จนจำนวนลดลงอย่างมาก และยังเสี่ยงต่อโรคภัยที่มักจะเชื่อมโยงกับภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย“จนถึงปี ๒๕๖๕ มีประชากรพวกมันในธรรมชาติราว ๑.๓ ล้านตัว และบางทีในปีนี้อาจเพิ่มจนเกินกว่า ๒ ล้านตัว” ด็อกเตอร์ฮิลตัน-เทย์เลอร์ กล่าวติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreignที่มา : ap