นายกฯ เน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ ในความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนระดับประชาชนที่ใกล้ชิด พร้อมผลักดันความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ซอฟต์พาวเวอร์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เมื่อเวลา ๑๑.๕๐ น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย ๒ ชั่วโมง) ณ โรงแรม Okura Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ ช่วงที่ ๒ การหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ “Heart to Heart Partners across Generations” โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญว่านายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ (Heart-to-Heart Partnership) ผ่านการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ทั้งในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ญี่ปุ่นถือเป็นพันธมิตรที่ไทยให้ความไว้วางใจอย่างมาก โดยเฉพาะการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างรุ่นสู่รุ่นที่แท้จริงในอนาคต จะต้องคำนึงถึงค่านิยมและทัศนคติที่แตกต่างกันของคนหนุ่มสาว รวมถึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนด้วย ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ยังได้กล่าวถึงโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมมิตรภาพและสร้างความประทับใจในญี่ปุ่นให้กับทั้งเยาวชนไทยและอาเซียน รวมถึงแอนิเมชันญี่ปุ่น ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ชมได้จากรุ่นสู่รุ่น สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมความเข้าใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และปลูกฝังค่านิยมเชิงบวก โดยนายกรัฐมนตรีระบุช่วงหนึ่งว่า เติบโตมาพร้อมกับตัวการ์ตูนหน้ากากเสือ (Tiger Mask) และกาโม่มนุษย์กายสิทธิ์ (Spectreman) ซึ่งถือเป็นซูเปอร์ฮีโร่กลุ่มแรกๆ ของโลก ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่หลายคนในการมุ่งมั่นทำงานเพื่อโลกที่ดีขึ้นและสงบสุข ทั้งนี้ รัฐบาลไทยตระหนักถึงศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่กำลังเติบโต ทั้งการออกแบบ แฟชั่น อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง เกม และการสร้างเนื้อหาดิจิทัล ซึ่งไทยพร้อมมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นและอาเซียนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทางด้านความร่วมมือด้านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เช่น โครงการ Japan East-Asia Network of Exchange for Students and Youths (JENESYS) และโครงการที่ริเริ่มใหม่ Partnership to Co-create a Future with the Next Generation (WA Project ๒.๐) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าความร่วมมือดังกล่าว ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้มแข็ง เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต และยินดีที่ญี่ปุ่นบริจาคเงิน ๔๐,๐๐๐ ล้านเยน เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นนี้ อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำการก้าวไปข้างหน้า พร้อมกับการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจต่อไป เพื่อเพิ่มความเข้าใจอันดีต่อกันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป.
“เศรษฐา” ย้ำความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ หนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์-ซอฟต์พาวเวอร์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง