“เศรษฐา” ปิดฉากเยือนญี่ปุ่น จัดโรดโชว์แลนด์บริดจ์ ท่ามกลาง ๔๐ ผู้บริหารจาก ๓๐ บริษัทใหญ่ร่วมรับฟัง ชี้ช่องแคบมะละกาแออัดเกินไป เปิดโอกาสไทยเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้าภูมิภาคแปซิฟิก-อินเดีย ประหยัดต้นทุนขนส่งและเวลา หวังดันจีดีพีไทยพุ่งทะยาน รัฐบาลใจปํ้าให้สัมปทานยาว ๕๐ ปี ดึงพานาโซนิคตั้งโรงงานผลิตแบตรถยนต์อีวี ป้อนเทสลาในไทย โอ่มารอบนี้ประสบผลสำเร็จ โฆษก รบ.ตีปี๊บผลงานครบ ๙๐ วัน สว.จับผิดนายกฯไร้ผลงานคงอยู่ไม่ได้ ขู่ยื่นอภิปรายทิ้งทวนก่อนไป “นิกร” ส่ง ๕ คำถามประชามติหยั่งเสียง สว. วุฒิฯไฟเขียว “สิทธิโชติ” เป็น กกต. เลื่อนฟังพิพากษาคดีพันธมิตรปิดสนามบินนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รัฐมนตรีว่าการคลัง จบภารกิจการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ด้วยการจัดโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ และโอกาสทางธุรกิจ “Thailand Landbridge Roadshow” ต่อหน้า ๔๐ ผู้บริหาร จาก ๓๐ บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นtt tt“เศรษฐา” โรดโชว์แลนด์บริดจ์เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๑๘ ธ.ค. (เวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เร็วกว่าประเทศไทย ๒ ชั่วโมง) ที่โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง เป็นประธานเปิดโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์และโอกาสทางธุรกิจ “Thailand Landbridge Roadshow” มีผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ ๓๐ บริษัท รวม ๔๐ คน ให้ความสนใจร่วมรับฟัง มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม นายเศรษฐากล่าวว่า ในอนาคตแลนด์บริดจ์อาจเป็นศูนย์กลางการขนส่งอีกแห่งของโลก ทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ามากที่สุดประมาณ ๔๐% ของโลก รองลงมาคือยุโรป ๓๘% การขนส่งส่วนใหญ่ใช้เส้นทางช่องแคบมะละกา มีตู้สินค้าผ่านช่องทางนี้ ๒๕% ของทั้งโลก มีน้ำมันผ่านช่องทางนี้ ๖๐% ของโลกชี้ช่องแคบมะละกาชักแออัดนายเศรษฐากล่าวว่า ถือว่าเป็นช่องทางที่คับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เพราะมีการขนถ่ายสินค้าประมาณ ๗๐.๔ ล้านตู้ต่อปี มีเรือผ่านช่องแคบประมาณ ๙๐,๐๐๐ ลำต่อปี จากการคาดการณ์ในปี ค.ศ.๒๐๓๐ ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสระหว่างรอถ่ายเรือไทยเห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ เพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนที่สามารถพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประหยัดและเร็วกว่าประหยัดต้นทุนขนส่งและเวลานายเศรษฐากล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกา พบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทร อินเดีย ปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่แลนด์บริดจ์ สามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย ๔% และประหยัดเวลาได้ ๕ วันศูนย์กลางขนถ่ายแปซิฟิก-อินเดียนายกฯกล่าวว่า เช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค เมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่เรา สามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย ๔% ประหยัดเวลาได้ ๓ วัน อีกกลุ่มหนึ่งที่ผลิตในไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกแลนด์บริดจ์ด้วยเรือ Feeder ไปยังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง ๓๕% ประหยัดเวลาถึง ๑๔ วัน เฉลี่ยแล้วจะช่วยลดเวลาได้ ๔ วัน ลดต้นทุนได้ ๑๕% คาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ ๑๙.๔ ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกอยู่ที่ประมาณ ๑๓.๘ ล้านตู้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง ๒๓% กับที่ผ่านช่องแคบมะละกาหวังทะลวงจีดีพีไทยให้พุ่งทะยานนายเศรษฐากล่าวว่า หากใช้แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย ๖% รวมถึงนักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการ ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาคการเงินและการธนาคาร ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ในภาพรวม เกิดการสร้างงานไม่น้อยกว่า ๒๘๐,๐๐๐ อัตรา และคาดว่า GDP ของไทยจะเติบโตถึงร้อยละ ๕.๕ ต่อปี หรือประมาณ ๖.๗ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ “ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตร่วมกัน”tt tt“สุริยะ” ใจป้ำให้สัมปทานยาว ๕๐ ปีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม กล่าวกับกลุ่มนักลงทุนว่า โครงการดังกล่าวมีข้อได้เปรียบ ๒ ข้อ คือ ๑.ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแลนด์บริจด์ ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่นในภูมิภาค ๒.เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา มีจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น ๔ ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๒๕-๒๐๔๐ รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ (International Biding) มีระยะเวลาสัมปทาน ๕๐ ปีเป็นสัญญาเดียว กลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินโครงการต้องมีศักยภาพ ต้องมีการออกกฎหมายใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะความคุ่มค่าโครงการจะคืนทุนใน ๒๔ ปี คิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนจากด้านอื่นๆดึงพานาโซนิคตั้งโรงงานผลิตแบตต่อมาเวลา ๑๐.๓๐ น. ผู้บริหารบริษัท Panasonic holdings corporation เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ หารือถึงการเพิ่มโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อพิจารณาขยายการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์และระบบกักเก็บพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต ๒๐๐ กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี ๒๐๓๑ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนของ Panasonic เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาปเป็นยานยนต์ EV รวมถึงการสนับสนุนด้านพลังงานสะอาดด้วยย้ำสัมพันธ์นักธุรกิจญี่ปุ่นใจถึงใจจากนั้นนายเศรษฐาให้สัมภาษณ์สรุปภาพรวมการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น และร่วมหารือกับนักธุรกิจว่า คนญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากกว่า ๖๐ ปี เรามีความสัมพันธ์ยาวนานทั้งในระดับประชาชน รัฐบาล และราชวงศ์ ทุกคนมีแต่รอยยิ้ม นักธุรกิจเกินกว่าครึ่งที่ได้พบเคยประจำสำนักงานในประเทศไทย คิดว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ วันนี้เมื่ออยู่ในตำแหน่งสูงขององค์กร เชื่อว่าการจะมาลงทุนในไทยมีเยอะ เขาแสดงความต้องการให้รัฐบาลไทยช่วยอำนวยความสะดวก อาทิ เรื่องความมั่นคงทางการเมือง สิทธิประโยชน์ทางภาษี พลังงานสีเขียว และเรารู้กันอยู่แล้วคือเรื่อง “ใจถึงใจ” คนญี่ปุ่นไปอยู่ไทยแล้วรู้สึกสบายใจ ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล อาหารการกิน ค่าครองชีพโอ่มารอบนี้ประสบผลสำเร็จมากนายกฯกล่าวถึงการพูดคุยกับบริษัทพานาโซนิคว่า พานาโซนิคทำแบตเตอรี่ให้กับบริษัทเทสลาด้วย เขากำลังดูพื้นที่ ๖๐๐ ไร่เพื่อทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ประเทศไทยเป็น ๑ ในเป้าหมาย ผู้บริหารเบอร์สองของเขาอยู่เมืองไทยมาตลอด เป็นเครดิตของคนไทยที่ต้อนรับอาคันตุกะทุกอาชีพด้วยใจจริง และงานที่เราทำมาทั้งหมดในการเดินทางมาครั้งนี้ไม่ใช่แค่ผลงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) กรุงเทพฯเท่านั้น แต่สำนักงานบีโอไอที่ญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญมาก เป็นคนจุดประกายว่าญี่ปุ่นมีความเป็นห่วงเรื่องอะไร รับโจทย์ไปและจัดการในทุกเรื่อง เรามาถึงที่นี่ก็ง่ายเพียงแค่ยิ้มแย้มแจ่มใสและพยักหน้า ถือว่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากเทคะแนนให้นักลงทุน ๙ เต็มสิบนายเศรษฐากล่าวอีกว่า บรรยากาศการสัมมนาโครงการแลนด์บริดจ์ได้รับการตอบรับดี มีตัวเลขออกมาชัดเจน แต่ก็มีการบ้านที่ต้องทำอยู่เยอะตามที่พรรคฝ่ายค้านแนะนำมา รัฐบาลอาจต้องพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยืนยันว่าทุกส่วนในประเทศต้องมีส่วนร่วมในการทำเมกะโปรเจกต์ ถ้าเราไม่ทำจะไม่สามารถยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคได้ ไม่สามารถยกระดับจีดีพีของประเทศได้ ดีใจที่นักลงทุนญี่ปุ่นเบอร์ใหญ่ๆ มากันเยอะ คิดว่าเขามีความสนใจมาก จากที่พูดคุยมีทิศทางบวกมากๆ เดินทางมาครั้งนี้ให้คะแนนความพึงพอใจที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีกับไทย ๘-๙ จากเต็มสิบ นายกฯยิ้มและมีท่าทีไม่ได้แปลกใจอะไร เชื่อว่าทุกบริษัทที่มามีความสบายใจที่ระดับผู้นำประเทศคุยกันอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงให้คำตอบที่ชัดเจนด้วย “ให้ได้ก็บอกให้ได้ ให้ไม่ได้ก็บอกคงให้ไม่ได้ แต่มีทางเลือกอื่นให้เลือก”ถูกคอ “ฮุน มาเนต” ผู้นำกัมพูชานายเศรษฐายังกล่าวด้วยว่า ได้พบกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกครั้งมีคุยถึงพื้นที่ จ.สระแก้ว ที่เพิ่งไปลงพื้นที่มาเห็นว่า นิคมอุตสาหกรรมและการค้าชายแดนยังสามารถยกระดับได้อีก ในเดือน กุมภาพันธ์๒๕๖๗ จะมาเยือนประเทศไทย จากนั้นจะมีการประชุมย่อยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจร่วมกัน เกี่ยวกับการค้าชายแดน หากกัมพูชามีแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วติดต่อการค้า จะดีกับทั้งภูมิภาค เพราะไทยมีท่าเรือน้ำลึกและสนามบิน มีพลังงานสะอาดที่พร้อม น่าจะทำอะไรร่วมกันได้ อีก ๑๐ ปีข้างหน้าเราจะเป็นเบอร์ ๓ ของโลก การที่เรารวมตัวกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะเอื้อต่อธุรกิจได้อีกเยอะมาก ยิ่งตนกับนายกฯกัมพูชามีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จะพูดอะไรก็ง่ายtt ttเข้าเฝ้าจักรพรรดิ-จักรพรรดินีกระทั่งเวลา ๑๖.๐๐ น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ที่พระราชวังอิมพีเรียล หลังเสร็จสิ้นภารกิจนายกฯและคณะได้เดินทางกลับถึงประเทศไทย เวลา ๒๓.๕๐ น.โฆษก รบ.โชว์ผลงานรอบ ๙๐ วันนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี กล่าวสรุปผลงานรัฐบาลในรอบ ๙๐ วันว่า ทำทั้งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน อาทิ ปรับลดราคาค่าไฟฟ้า ปรับลดราคาน้ำมันดีเซล ลดราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม LPG ลดราคารถไฟฟ้าสีม่วงและสีแดง ๒๐ บาทตลอดสาย เห็นชอบจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ พักหนี้เกษตรกร บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ กระตุ้นการท่องเที่ยว วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน/คาซัคสถาน/อินเดีย/ไต้หวัน/รัสเซีย ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ผลักดันกระเป๋าเงินดิจิทัล ๑ หมื่นบาท ขยาย OTOP สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ขยายเวลาปิดสถานบริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง สิ่งที่นายกฯและรัฐบาลได้ทุ่มเททำลงไป จะเริ่มผลิดอกออกผลให้เห็นตั้งแต่กลางปี ๒๕๖๗ เป็นต้นไปสว.จับผิด รบ.ไร้ผลงานอยู่ไม่ได้ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวว่า ขอประเมินผลงานนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ครบ ๓ เดือน สิ่งที่ประชาชนคาดหวังและรอจากรัฐบาล ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม เห็นแต่อีเวนต์และการชี้แจงนโยบาย ยังไม่มีเนื้องานเป็นชิ้นเป็นอันเป็นที่พอใจของประชาชน หลายสิ่งที่พูดไม่ได้ดูกลไกกฎหมาย หรือระเบียบราชการ ประกาศออกมาก็สะดุดไปหมด ทั้งการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ การจ่ายเงินเดือน ๒ ครั้ง การขึ้นค่าแรง แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ปราบยาเสพติด ล่าสุดการแก้หนี้นอกระบบที่สั่งการกระจัดกระจาย ไม่มีใครปฏิบัติได้จริง ระบบลงทะเบียนคือปาหี่ทางการเมือง ขอเตือนนายกฯต้องเปลี่ยนการบริหารการจัดการประเทศใหม่ ไม่ใช่เอาแต่โชว์นั่นนี่ ประเทศไม่ใช่เป็นบริษัทเอกชน ที่เป็นซีอีโอจะเอาอย่างไรก็ได้ แต่มีกฎหมาย กติกาการปฏิบัติ อยากให้รีบแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่จะกดดันว่านายกฯจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ต้องทำผลงานเป็นที่ประจักษ์ หากผลงานไม่เป็นที่ปรากฏ ประชาชนจะกดดันทำให้อยู่ไม่ได้ขู่ยื่นอภิปรายทิ้งทวนก่อนไปนายวันชัยกล่าวว่า เท่าที่ฟังมาการประสานในพรรคร่วมรัฐบาลมีน้อย แม้แต่พรรคตัวเอง รัฐมนตรียังประสานกันน้อย ข้าราชการบอกนายกฯฟังข้าราชการน้อยมาก หัวร้อนไว ต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำงานใหม่ ประชาชนคาดหวังแล้ว ผลงานยังไม่ออก ในฐานะ สว.ได้ตะโกนบอกแล้ว หากยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาจต้องใช้กลไกวุฒิสภาที่มีอำนาจในการอภิปรายทั่วไป สว.เหลือวาระประชุมอีกสมัย กลไกตรวจสอบรัฐบาลอาจต้องนำมาใช้ในยุครัฐบาลนายเศรษฐา ไม่ได้มีอคติแต่อยากให้มีผลงาน ไม่ใช่มัวรำมวยรำไปรำมา ๓-๔ เดือนแค่นี้ หากประเมินผลงานเต็มสิบ ให้เพียงแค่ ๔ คะแนน ได้แต่ภาพอีเวนต์ การลงพื้นที่มีแต่ฉาบฉวย เปรียบเหมือนมวยต่อยหนัก ต่อยตลอด แต่ต่อยไม่ตรงเป้า วืดหมด แค่รำมวยสวยไหว้คนสวยงาม ลงพื้นที่เก่ง แต่ชกไม่ตรงเป้า ไม่ได้คะแนน เสียดาย ส่วนเหตุผลที่นายกฯลาพักร้อน วันที่ ๑๙-๒๒ ธ.ค. คงหัวร้อนมานานจึงอยากพักร้อนบ้าง“นิกร” ส่ง ๕ คำถามหยั่งเสียง สว.ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ ๑๘ ธันวาคมก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ได้นำแบบสอบถามเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ส่งให้ สว.ทุกคนแสดงความเห็น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ เป็นประธาน รวม ๕ ข้อคือ ๑.เห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ๒.กรณีเห็นว่าไม่สมควรทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่ ๓.กรณีเห็นว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีปัญหาใดที่ต้องแก้ไข ๔.การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด หรือที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนตามที่กรรมาธิการกำหนด และ ๕.เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดทำประชามติก่อนเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดทำประชามติ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯtt tt“พรเพชร” ชี้แก้ รธน.ยังเรื่อยเปื่อยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นประชาชน เกี่ยวกับแนวทางทำประชามติ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ส่งแบบสอบถามให้ สว.แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางทำประชามติและการแก้รัฐธรรมนูญว่า เอกสารที่ส่งมาให้ สว.แสดงความเห็นมีไม่กี่ข้อ แจกให้ สว.ทุกคนก่อนเข้าห้องประชุมวุฒิสภา ไม่มีเรื่องอะไรที่ สว.ต้องมาปรึกษาหารืออะไรกัน ถ้าไปหารือกัน คงคุยกันแค่ ๑-๒ คน คาดว่า สว.ส่งแบบ สอบถามคืนให้คณะอนุกรรมการฯได้ในวันที่ ๑๙ ธ.ค. แนวทางการทำประชามติที่มาสอบถามความเห็น สว.นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ในทางวิชาการต้องไปศึกษาอีกครั้ง พร้อมทั้งสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ส่วนการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะทำได้ตามไทม์ไลน์หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจน มีแต่การแสดงเจตนารมณ์ของฝ่ายต่างๆ ต้องค่อยๆดูไป คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆเชื่อ ก.ม.นิรโทษฯไม่จุดไฟขัดแย้งนายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลเสนอร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีข้อยุติอย่างไร ส่วนร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าวจะทำให้เกิดความขัดแย้งอีกหรือไม่ ขอถามว่าเป็นความขัดแย้งของใคร ขณะนี้ยังมองไม่ชัดจะมีความขัดแย้งเรื่องใด ถ้าเป็นเรื่องในสภาฯเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีฝ่ายไม่เห็นด้วย คงไม่มีปัญหาอะไร ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นให้นิรโทษกรรมคดีความผิดมาตรา ๑๑๒ จะเกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายพรเพชรตอบว่า เป็นประเด็นที่มีความเห็นต่าง ไม่ใช่ความขัดแย้ง เชื่อว่าเจรจาแก้ไขกันได้ แต่ฝ่ายเสียงข้างมากย่อมได้เปรียบขวางอย่าคิดแก้ ก.ม.ประชามตินายคำนูณ สิทธิสมาน สว.กล่าวว่า ถือเป็นอิสระที่ สว.จะตอบแบบสอบถามไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เงื่อนไขทำประชามติเป็นไปได้ยาก ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ต้องทำอย่างน้อย ๓ ครั้ง คือ ๑.ครั้งแรก สอบถามให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ๒.ทำตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ ที่เปิดให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ ๓.หลังจากยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ทั้ง ๓ ครั้งต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และต้องมีผลประชามติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งด้วย มีบางพรรคเสนอให้แก้ พระราชบัญญัติประชามติ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเนื่องจากยังไม่เคยใช้ พระราชบัญญัติประชามติเลยตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ดังนั้น การทำประชามติให้ผ่านทั้ง ๓ ครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย และการแก้ พระราชบัญญัติประชามติไม่ง่ายเช่นกันไฟเขียว “สิทธิโชติ” นั่งแป้น กกต.วันเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กกต. ที่จะพ้นตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ ๗๐ ปี ตามที่คณะ กมธ.สามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม วุฒิสภา ได้ตรวจสอบประวัติ นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธาน แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ผู้ถูกเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังมีการประชุมเป็นการลับ ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ที่ประชุม ลงมติเห็นชอบให้นายสิทธิโชติเป็น กกต. ด้วยคะแนน ๑๗๕ เสียงต่อ ๑๖ เสียง และไม่ลงคะแนน ๘ เสียง ถือว่านายสิทธิโชติเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจาก สว. เพราะได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว.เท่าที่มีอยู่tt ttมท.๑ ขู่ฟันภาษี-อาญาเจ้าหนี้ที่ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ นายอนุทินให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมถึงกรณีที่ จ.นนทบุรี ลูกหนี้แค้นขับรถชนเจ้าหนี้ทวงหนี้ไม่เลิก ทั้งๆที่จ่ายดอกเบี้ยเกินเงินต้นไปจำนวนมากแล้วว่า จะให้นายอำเภอและผู้กำกับฯไปไกล่เกลี่ย ลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีบันทึกอยู่แล้วว่าเงินที่ใช้คืนไปมีจำนวนเท่าไหร่ ถ้าจ่ายเกินไปมากแล้วควรจบได้แล้ว ถ้าไม่จบดอกเบี้ยที่คิดเกินไป ภาษีไม่ได้จ่าย อาจโดนเบี้ยปรับมากกว่าเงินต้นหลายเท่า และมีความผิดทางอาญาด้วย นายกฯถึงได้ตั้งคณะกรรมการที่มีทุกฝ่าย ทั้งตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง รวมถึงกระทรวงการคลังเข้ามาดู ถ้าจำเป็นจะดึงหนี้นอกระบบมาในระบบ ธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐจะช่วยเหลืออย่างไร แต่กรณีเหตุที่เกิดใน จ.นนทบุรี กำลังรอฝ่ายปฏิบัติรายงานขึ้นมาย้ำใช้กฎหมายรวดเร็วเด็ดขาดน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทินย้ำกับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ถือเป็นการประชุมนัดแรก ให้ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ลูกหนี้ ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา การถูกข่มขู่โดยใช้ความรุนแรง และแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวนโยบายของนายกฯที่ให้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ๓ ขั้นตอน ประกอบด้วย ๑.การลงทะเบียนตั้งแต่ ๑ ธันวาคม๒๕๖๖-๒๙ กุมภาพันธ์๒๕๖๗ มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และสำนักนายกรัฐมนตรีช่วยเสริม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกัน โดยประชาชนได้รับหมายเลขอ้างอิง เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าทางเว็บไซต์ภาครัฐได้ตลอด ๒.การไกล่เกลี่ยและติดตามผล และ ๓.กำหนดระยะเวลาดำเนินการ เป้าหมาย และตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยขอให้หัวหน้าส่วนหน่วยงานสั่งการผู้รับผิดชอบดำเนินการเข้มงวดในการใช้กฎหมายด้วยความรวดเร็วเด็ดขาดกุนซือนายกฯยันปลดหนี้ ศก.ฟื้นนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ให้ลูกหนี้ลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรัฐเพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้มีทางออก มีประชาชนลงทะเบียนแล้วมากกว่า ๘๔,๕๐๗ ราย มูลหนี้ ๔.๔ พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีความลำบาก แต่ตัวเลขเหล่านี้กลับไปสร้างความร่ำรวยสร้างอิทธิพลให้กลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบ และสร้างปัญหาให้สังคม ลูกสมุนเจ้าหนี้ไปขู่ทุบตี พังร้านค้า หลายคนรับไม่ได้ หมดหนทางฆ่าตัวตายหนีหนี้มีจำนวนมาก นายกฯมีความจริงใจ ปลดภาระให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยและประชาชน เพราะกลุ่มนี้คือห่วงโซ่เศรษฐกิจสำคัญ หากกลุ่มนี้ซื้อง่ายขายคล่องจะส่งผลให้พื้นฐานเศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้นด้วยเลื่อนพิพากษาม็อบปิดสนามบินที่ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตย ๒๘ คน ข้อหาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยึดสนามบินดอนเมือง เมื่อปี ๒๕๕๑ ปรากฏว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ ๑ นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ ๓ นายเทิดภูมิ หรือเกิดภูมิไท ใจดี จำเลยที่ ๑๕ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ จำเลยที่ ๒๘ ป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ทุกคนมีใบรับรองเเพทย์มายืนยัน ส่วนนายประพันธ์ คูณมี จำเลยที่ ๑๔ ติดพิธีประดับ เครื่องราชฯ ศาลพิจารณาแล้วกรณีมีเหตุจำเป็นอนุญาตให้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ ๑๗ มกราคม๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่