วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

ยังไม่ทันไร สส.งูเห่าก็โผล่แล้ว

หลังจากอภิปรายในสภาฯ ๓ วัน ๒ คืน ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ก็ผ่านวาระแรกรับหลักการด้วยคะแนนเห็นชอบ ๓๑๑ เสียง ไม่เห็นชอบ ๑๗๗ เสียง งดออกเสียง ๔ เสียง พิสูจน์ว่าเสียง สส.ซีกรัฐบาลแน่นปึ้ก และที่สร้างความฮือฮาคือมี สส.พรรคไทยสร้างไทย ๓ คน แหกมติวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไปโหวตเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติงบฯ ๖๗ ประกอบด้วย คุณสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร คุณหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี และคุณอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานีร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณเป็นกฎหมายทางการเงิน ตามธรรมเนียมแล้วนายกฯจะต้องแสดงความรับผิดชอบหากร่างกฎหมายไม่ผ่านวาระแรก แต่ในช่วงต้นเทอมรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคยังหวานชื่นกันอยู่ ประกอบกับบรรยากาศและเงื่อนไขการเมืองแบบนี้ ไม่มีทางที่จะแพ้โหวตในสภาฯ ถึงอย่างไรร่าง พระราชบัญญัติงบฯ ๖๗ ต้องผ่านความเห็นชอบแน่นอน ยังไม่มีความจำเป็นต้องร้อนรนรีบใช้บริการ สส.งูเห่าก็ไม่รู้ว่า สส.งูเห่าทั้ง ๓ คน มีเหตุผลแท้จริงอย่างไรที่โหวตสวนมติวิปฝ่ายค้าน หรืออาจมีข้อตกลงอะไรกับรัฐบาลหรือไม่ แต่คอการเมืองตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือกลุ่มงูเห่าชุดแรกที่พร้อมสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลในการลงมติเรื่องต่างๆและวาระสำคัญในอนาคตดูเหมือนปรากฏการณ์ สส.งูเห่าจะอยู่คู่การเมืองไทยไปแล้ว เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๔ ระบุว่า ในที่ประชุมสภาฯ ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกจะกล่าวถ้อยคำแสดงความเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาด นอกจากนี้ข้อบังคับการประชุมสภาฯก็กำหนดสอดคล้องกันคือ ในการอภิปรายหรือลงมติ สส.ย่อมมีอิสระไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเกิด สส.งูเห่าก็ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ความเป็นเอกภาพของฝ่ายค้าน และเสื่อมเสียผิดมารยาททางการเมืองต้องขอชื่นชม คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ที่ แสดงความรับผิดชอบ ทันทีที่ทราบผลการลงคะแนนของ ๓ สส.งูเห่า ด้วยการยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค นี่คือสปิริตที่หายากขึ้นทุกวันในหมู่นักการเมืองไทยในหนังสือลาออกระบุว่า ก่อนหน้าจะมีการลงคะแนนเสียง ได้เชิญ สส.ของพรรคทั้ง ๕ คนเข้าร่วมหารือ เพื่อกำชับทุกคนให้ลงคะแนนเสียงตามมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือลงคะแนนไม่รับร่าง พระราชบัญญัติงบฯ ๖๗ เน้นย้ำถึง ๓ ครั้ง แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่ามี สส.ของพรรค ๓ คนลงคะแนนเห็นชอบ ซึ่งเป็นการขัดกับมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตนจึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพร้อมกันนี้คุณฐากรได้ให้สัมภาษณ์ขอโทษผู้นำฝ่ายค้านและประธานวิปฝ่ายค้านต่อกรณีดังกล่าว ยืนยันว่าได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว แต่เมื่อกำกับ สส.ไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง ไม่อยากให้ใครมองว่าคุมพรรคไม่อยู่ พอไม่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็เกิดปัญหาแบบนี้ถึงแม้พรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคเล็ก มี สส.แค่ ๖ คน แต่ในการอภิปรายร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณครั้งนี้ ถือว่าทำการบ้านมาเป็นอย่างดี คุณฐากรได้ตั้งฉายางบฯ ๖๗ ว่า “๓ ขาด ๓ เกิน ๑ พอได้” คือมี ๓ กระทรวงที่ได้งบลงทุนน้อยเกินควร ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข มี ๓ กระทรวง ที่ได้รับงบลงทุนมากเกินไป ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ส่วน ๑ กระทรวง ได้งบลงทุนในอัตราส่วนที่พอรับได้ คือกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตเกษตรกรทั่วประเทศการอภิปรายของคุณฐากรสรุปเนื้อหากระชับ มีข้อมูลตัวเลขชัดเจน พร้อมข้อเสนอแนะ ไม่เสียดสีกระทบกระเทียบ อาจไม่ดุเดือดเผ็ดร้อน แต่พูดเชิงสร้างสรรค์ให้เอาไปปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ รวมถึงการจัดทำงบฯปี ๖๘เสียดายตอนจบดันเจอกลุ่ม สส.งูเห่าทำพิษ.ลมกรดคลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม