วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

"พัชรวาท" เร่งรัด "โครงการแก้มลิงทุ่งหิน" หวังยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช.

17 ม.ค. 2024
65

“พัชรวาท” ลงพื้นที่สมุทรสงคราม ตรวจเยี่ยม “โครงการแก้มลิงทุ่งหิน” พร้อมเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็ว หวังยกระดับคุณภาพชีวิต-แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน เล็งพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อวันที่ ๑๗ ม.ค. ๒๕๖๗ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการแก้มลิงทุ่งหิน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมี นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม, น.ส.กาญจน์สุดา ปานาสุทธะ นายก อบจ.สมุทรสงคราม, พล.ต.ต.ชมชวิณ ปุระธนานนท์ รอง ผบช.ภ.๗ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับโดย พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า โครงการแก้มลิงทุ่งหินแห่งนี้มีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแม่กลองเป็นอย่างมาก ทั้งบรรเทาปัญหาน้ำหลาก และช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนในบริเวณ ต.ยี่สาร ไปจนถึงพื้นที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี หากโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ ๙ ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เพาะพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ เป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ดังนั้นโครงการนี้จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี มีน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร อีกทั้งจะเป็นแลนมาร์กการท่องเที่ยวแห่งใหม่ด้วย โดยรัฐบาลจะเร่งพัฒนาโครงการนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อน และพี่น้องประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์โดยเร็วtt ttจากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ได้เดินตรวจเยี่ยมโครงการฯ และสอบถามถึงสภาพปัญหาต่างๆ กับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานราชการ พร้อมกับถ่ายรูปร่วมกัน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปได้สักการะหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสมุทรสงคราม และกราบนมัสการพระราชสมุทรวริโสภณ เจ้าอาวาส วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงครามสำหรับโครงการแก้มลิงทุ่งหิน มีเนื้อที่กว่า ๒,๖๒๓ ไร่ มีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำทะเลหนุนสูง เกิดปัญหาน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ประมง และที่อยู่อาศัยของประชาชนบ่อยครั้ง อีกทั้ง จ.สมุทรสงคราม ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำจืดขนาดใหญ่ โครงการแก้มลิงทุ่งหินจึงเป็นโครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยถูกราษฎรและนายทุนบุกรุก จำนวน ๕๒ ครอบครัว ต่อมาทางจังหวัดได้พิจารณาเห็นควรที่จะนำมาทำเป็นแก้มลิงขยายผลตามโครงการพระราชดำริ จึงได้มอบหมายให้นายอำเภออัมพวา และโครงการชลประทานสมุทรสงคราม เข้าไปทำความเข้าใจกับราษฎรผู้บุกรุก และผลักดันผู้บุกรุกออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด และดำเนินโครงการและพัฒนาพื้นที่เรื่อยมา.