วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567

ชงยกเลิกคำสั่ง คสช. ๗๑ ฉบับ จ่อส่ง คณะรัฐมนตรีหวังเข้าสภาฯ ทันสมัยประชุมนี้

“สมศักดิ์” รองนายกฯ เรียก กมธ.พิจารณาร่าง พระราชบัญญัติยกเลิกเช็ค ถกทางออก ๒๙ ก.พ. พร้อมสรุป เดินหน้ายกเลิกคำสั่ง คสช. ๗๑ ฉบับ จ่อ ส่งให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณา หวังส่งเข้าสภาฯ ทันปิดสมัยประชุมนี้ ด้าน “มนพร” ลั่น ดันกฎหมายให้ได้มากที่สุด  วันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๖๗ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (ครน.) โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะกรรมการ ครน. เข้าร่วม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามเร่งรัดกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเร่งรัดร่างพระราชบัญญัติ เมื่อผ่านไป ๒-๓ สัปดาห์ ตนขอให้ประเมินผลด้วยว่า สามารถเสนอร่าง พระราชบัญญัติเข้าครม. แล้วส่งให้สภาฯ พิจารณาแล้วกี่ฉบับ จะได้สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานะร่าง พระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีขณะนี้ แบ่งออกเป็น ๑. อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๖ ฉบับ ๒. อยู่ในการพิจารณาของ สลค. จำนวน ๓๖ ฉบับ ๓. อยู่ในการพิจารณาของหน่วยงาน ๑๘ ฉบับ นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครน. ได้ติดตามความคืบหน้า ร่าง พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ที่ขณะนี้ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ของหลายหน่วยงาน ที่ประชุมจึงมีมติเชิญ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่มี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการ มาร่วมประชุมกับ ครน.โดยจะมีการเชิญ ธนาคารฯ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจง ในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์นี้ พร้อมจะมีการหารือถึงมาตรการรองรับ หากต้องยกเลิกด้วย “ที่ประชุมยังได้มีการพิจาณาแนวทางการยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขณะนี้ยังไม่ยกเลิก ๑๖๗ ฉบับ โดยสามารถมีแนวทางยกเลิกได้ ประกอบด้วย ๑. ยกเลิกโดยการตรามาตรา พระราชบัญญัติกลางยกเลิก ๗๑ ฉบับ ๒. ยกเลิกโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบัน ๓๗ ฉบับ ๓. ยกเลิกโดยการตรา พ.ร.ฎ. ๒ ฉบับ ๔. ยกเลิกโดยการออกกฎกระทรวง ๒ ฉบับ และ ๕. ยกเลิกโดยทำเป็นมติคณะรัฐมนตรี ๕๕ ฉบับ ซึ่งในส่วนของ ๗๑ ฉบับ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ให้เดินหน้าทำกฎหมายยกเลิกทั้ง ๗๑ ฉบับ เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. หลังรอให้หน่วยงานต่างๆ ส่งความเห็นมาว่า คำสั่ง คสช.ใดที่เห็นควรให้มีต่อ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดส่งความเห็นกลับมา ก็แสดงว่า ต้องการยกเลิกทั้งหมด โดยจากนี้ก็จะสรุปส่งเรื่องเข้าครม.ต่อไป เพื่อให้ทันปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว ขณะที่ นางมนพร กล่าวว่า จากนี้ตนได้ประสานไปยังทุกกระทรวง และพรรคการเมือง ให้เสนอร่างกฎหมาย เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ส่วน คณะรัฐมนตรีขอยืนยันว่า พยายามรับกฎหมาย และส่งให้กฤษฎีกา พิจารณาโดยเร็ว เพราะสภาฯ จะปิดสมัยประชุม วันที่ ๙ เม.ย. ๖๗ ซึ่งเหลือเวลาเพียงเดือนเศษ ก็จะมีการผลักดันร่างกฎหมายให้ได้มากที่สุด